ไลอ้อน (ประเทศไทย) ร่วมกับ เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ เอสซีจีซี (SCGC) พัฒนาบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ด้วยโซลูชันที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากเอสซีจีซี กรีน พอลิเมอร์ (SCGC GREEN POLYMER™) นำร่องด้วยขวดบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์ซักผ้าชนิดน้ำ ‘เปา’ ที่ได้นำนวัตกรรมพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงชนิดไร้กลิ่น (High Quality Odorless PCR) ครั้งแรกในประเทศไทยจาก SCGC มาพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ต้องการเน้นกลิ่นหอมโดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังได้พัฒนาบรรจุภัณฑ์ครีมอาบน้ำ ‘โชกุบุสซึ’ โดยชนิดขวดได้ปรับลดการใช้วัสดุ และชนิดถุงเติมได้เปลี่ยนมาใช้วัสดุที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ง่าย ซึ่งความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมในครั้งนี้ เป็นการสานต่อนโยบายความยั่งยืนของทั้งสององค์กร ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะ ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนแล้ว ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศได้อีกทางหนึ่ง โดยยังคงคุณสมบัติที่ดีของบรรจุภัณฑ์ไว้อย่างครบถ้วน และไม่มีผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์ที่บรรจุอยู่ด้านใน ทั้งนี้ ไลอ้อนจะเริ่มจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกนี้ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เป็นต้นไป
นายสมศักดิ์ ศรีสอาดรักษ์ ผู้จัดการบริหารธุรกิจสหพัฒน์ ฝ่ายการตลาด บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า “ไลอ้อน (ประเทศไทย) กำหนดทิศทางในการบริหารธุรกิจ “เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพในทุกภารกิจ” ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยคำนึงถึงผู้บริโภค สังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ การจับมือกับ SCGC เพื่อเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์สินค้าต่าง ๆ ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้โซลูชันจาก SCGC GREEN POLYMERTM ทั้งด้านการใช้พลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง การลดใช้ทรัพยากร และการออกแบบเพื่อให้รีไซเคิลได้นั้น นับเป็นหนึ่งในวิธีที่จะช่วยตอบนโยบายของไลอ้อนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ และยกเลิกการใช้พลาสติกผลิตใหม่ (virgin plastic) ในบรรจุภัณฑ์ ภายในปี 2050 ซึ่งนำร่องด้วยบรรจุภัณฑ์ชนิดขวดของผลิตภัณฑ์ซักผ้าชนิดน้ำ ‘เปา’ และบรรจุภัณฑ์ทั้งชนิดขวดและถุงเติมของครีมอาบน้ำ ‘โชกุบุสซึ’ โดยบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดได้ผ่านการทดสอบคุณภาพแล้ว มั่นใจได้ว่าไม่มีผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์ที่บรรจุอยู่ด้านในอย่างแน่นอน ซึ่งจะวางจำหน่ายโดยเริ่มจากบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกชนิดขวดตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้ และชนิดซองตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป นอกจากนี้ ยังมีแผนขยายไปสู่บรรจุภัณฑ์สินค้าอื่น ๆ ของไลอ้อนต่อไปในอนาคต เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนให้กับโลกใบนี้ต่อไป”
นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC กล่าวว่า “SCGC ดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG และ SDGs โดยมุ่งพัฒนานวัตกรรมพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Green Polymer ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มีเป้าหมายที่จะขยายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็น 1 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2030 โดย SCGC ได้พัฒนาเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงชนิดไร้กลิ่น (High Quality Odorless PCR) เป็นรายแรกในประเทศไทย ซึ่งการร่วมมือกับไลอ้อนในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกด้วยโซลูชันจาก SCGC GREEN POLYMERTM ถือเป็นการเปิดตัวเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงชนิดไร้กลิ่น (High Quality Odorless PCR) เป็นครั้งแรกอีกด้วย ซึ่งทางไลอ้อนได้นำร่องด้วยผลิตภัณฑ์ซักผ้าชนิดน้ำ ‘เปา’ และมีแผนขยายไปสู่บรรจุภัณฑ์สินค้าอื่น ๆ ในอนาคต สำหรับนวัตกรรมนี้ เราพัฒนาขึ้นให้เหมาะกับสินค้าที่เน้นคุณสมบัติเรื่องกลิ่นโดยเฉพาะ โดยยังคงคุณสมบัติของบรรจุภัณฑ์ไว้อย่างครบถ้วน และไม่มีผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์ที่บรรจุอยู่ด้านใน ทั้งนี้ โซลูชันจาก SCGC GREEN POLYMERTM นอกจากจะตอบสนองความต้องการของเจ้าของแบรนด์สินค้าและผู้บริโภคแล้ว ยังส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ช่วยลดปริมาณขยะ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนอีกทางหนึ่งด้วย”
ความร่วมมือในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกระหว่างไลอ้อน และ SCGC ในครั้งนี้ ได้มีการนำโซลูชันจากSCGC GREEN POLYMERTM พอลิเมอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสิ้น 3 ด้าน ได้แก่ (1) REDUCE : ลดการใช้เม็ดพลาสติก โดยนำเม็ดพลาสติกคุณภาพสูงที่ผลิตจากเทคโนโลยี SMX™ ซึ่งมีความแข็งแรงเป็นพิเศษมาใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ จึงช่วยลดการใช้เม็ดพลาสติก โดยยังคงคุณสมบัติอื่น ๆ ไว้อย่างครบถ้วน (2) RECYCLABLE : การออกแบบเพื่อให้รีไซเคิลได้ โดยพัฒนาร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจอย่างครบวงจร เป็น Recyclable Packaging Solution เพื่อเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัว (flexible packaging) ให้สามารถรีไซเคิลได้ง่าย และ (3) RECYCLE : นำพลาสติกใช้แล้วในครัวเรือนมารีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง ช่วยลดปริมาณขยะ และลดการใช้ทรัพยากร ซึ่งนอกเหนือจาก 3 โซลูชันข้างต้นแล้ว SCGC GREEN POLYMERTM ยังมีโซลูชันด้าน RENEWABLE พัฒนาพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ และพลาสติกจากทรัพยากรหมุนเวียนอีกด้วย