กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ร่วมกับดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ประเทศไทย จัดสัมมนาหัวข้อ “GoTrade เปิดประตูเอสเอมอีไทยสู่ตลาดโลก” เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เผยอินไซต์ด้านการส่งออก สินค้าที่ได้รับความนิยม ความท้าทายและโอกาสในการทำตลาดส่งออก เทรนด์การส่งออก พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และข้อควรรู้เกี่ยวกับการส่งออกสินค้าแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในไทย โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
จับตาอุปสงค์-อุปทานโลก สู่โอกาสของตลาดส่งออกไทย
ขณะที่คนไทยเตรียมตัวใช้ชีวิตร่วมกับโควิด-19 ไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมการบริโภคก็เปลี่ยนไปเช่นกัน จากข้อมูลการค้าระหว่างประเทศและเทรนด์การอุปโภค-บริโภครวบรวมโดย DITP ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ การใช้ชีวิตอยู่บนรากฐานของความสุข และความยั่งยืน จนกลายเป็นโอกาสและความท้าทายของธุรกิจที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยการส่งออกช่วงไตรมาสที่ 1 ปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.) พบว่าไทยส่งออกรวมมูลค่า 2,401,444 ล้านบาท ขยายตัว 14.9% [1]
นวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ และอาหารแห่งอนาคต (Future Food) – อนาคตส่งออกของประเทศไทย
ปัจจุบันผู้บริโภคตื่นตัวกับการดูแลสุขภาพ และยกระดับการใช้ชีวิตมากขึ้น ส่งผลให้กลุ่มสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มแห่งอนาคตเฟื่องฟู ซึ่งจะครอบคลุมตั้งแต่ออร์แกนิกฟู้ด ฟังก์ชันฟู้ด อาหารทางการแพทย์ และอาหารนวัตกรรมใหม่ รวมถึงอาหารประเภทอาหารจากพืชหรือ Plant-based ที่มีการคาดการณ์ว่าทั่วโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 5.7 ล้านล้านบาท ในปี พ.ศ.2570 โดยตลาดใหญ่ที่สุดคืออเมริกา รองลงมาคือสหราชอาณาจักร
- เกือบครึ่งของชาวสหรัฐฯ ต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ให้น้อยลง ทำให้ยอดขายตลาด Plant-based food ปี 2563 พุ่งสูงกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 33,000 ล้านบาท
- ช่วงปี 2562 – 2564 การบริโภคอาหารจากพืชเติบโตสูงถึง 49% ในทวีปยุโรป 11 ประเทศ มียอดขายรวม 3.6 พันล้านยูโร (ประมาณ 1.39 แสนล้านบาท) ในจำนวนนี้ สินค้านมจากพืชมียอดขายสูงสุด ตามด้วยเนื้อจากพืช ตลาดใหญ่ที่สุด ได้แก่ สหราชอาณาจักร และเยอรมนี[2]
- ในกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพ ชาวจีนใช้จ่ายกับสินค้าอาหารเสริมคิดเป็นสัดส่วน 10% ของรายได้ ขณะที่ 9 ใน 10 ของคนอังกฤษต้องการผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่สามารถช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน
- อาหารจากแมลง (Insect food) เป็นอีกหนึ่งจุดแข็งของตลาดไทยที่ต่างชาติต้องการ ในสหรัฐฯ มูลค่าตลาดอยู่ที่ 15.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (465 ล้านบาท) ในปี 2563 และมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวมากกว่า 40% ต่อปี
- ช่วงปีที่ผ่านมา เกิดเศรษฐกิจส่งเสริมการนอน หรือ economy of sleep ในประเทศจีน เพื่อแก้ปัญหาการนอนของประชากร สินค้าอุปโภคบริโภคและบริการที่เกี่ยวกับการนอนเติบโตอย่างเห็นได้ชัดในกลุ่มผู้บริโภควัยรุ่นชาวจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าส่งเสริมการนอนเชิงนวัตกรรมที่คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าถึง 5 ล้านล้านบาท) ในปี 2030 [3]
อาหารแห่งอนาคตจะเป็นอนาคตของการส่งออกของไทยในการสร้างรายได้เข้าประเทศต่อยอดจากการส่งวัตถุดิบเพียงอย่างเดียว ตัวเลขส่งออกในกลุ่มสินค้าอาหารแห่งอนาคตของไทยไปยังตลาดโลกปี 2564 เป็นมูลค่า 93,602.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.86% มีตลาดหลักคือ สหรัฐอเมริกา จีน กัมพูชา เมียนมา และเนเธอร์แลนด์ โดยสินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวสูง ได้แก่ ฟังก์ชั่นฟู้ดส์ อาหารทางการแพทย์ และกลุ่มโปรตีนทางเลือก ในปี 2565 คาดการณ์ว่าสินค้ากลุ่มนี้จะเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 5% เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ผลิตภัณฑ์กลุ่ม Home Improvement เติบโตพุ่งแรง
ผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอยสินค้าเพื่อกิจกรรมภายในบ้านมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดจนถึงปัจจุบัน ทำให้ค้นพบว่าตลาดนี้ไม่ใช่แค่กระแสที่เข้ามาและผ่านไป แต่กลายเป็นไลฟ์สไตล์เกิดใหม่ที่ผู้คนให้ความสำคัญกับพื้นที่หรือสถานที่ โดยใช้เวลาไปกับการปรับปรุงบ้านและสร้างบรรยากาศ Hybrid Work ในที่อยู่อาศัยมากขึ้น และหากแบรนด์แสดงออกถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม ก็จะยิ่งมีผลโน้มน้าวต่อการออเดอร์สินค้าแบรนด์นั้น ๆ เพราะผู้บริโภคต้องการมีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อมผ่านแบรนด์ที่ตนใช้บริการ
บริการขนส่งระหว่างประเทศยังคงมีผลต่อการตัดสินใจสั่งซื้อของ
คุณภาพการขนส่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการสร้างความไว้วางใจระหว่างลูกค้ากับแบรนด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่ถูกจัดส่งข้ามประเทศ นอกจากการมีพาร์ทเนอร์ด้านการขนส่งด่วนระหว่างประเทศที่คอยให้คำแนะนำเกี่ยวกับข้อระเบียบศุลกากรในแต่ละประเทศแล้ว ผู้ประกอบการควรจะหลีกเลี่ยง 4 ข้อผิดพลาดสำคัญที่ทำให้การส่งออก-นำเข้าล่าช้าหรือไม่ราบรื่น ได้แก่
1) ส่งสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ของปลอม ของก้อปปี้: ของเหล่านี้จัดเป็นสิ่งผิดกฎหมายในทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่มีประกาศกระทรวงฯ ว่าด้วยการห้ามส่งออกและนำเข้าสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์
2) สำแดงมูลค่าของต่ำกว่าราคาซื้อขายจริง: การแจ้งข้อมูลราคาสินค้าต่ำกว่าความเป็นจริง ผลที่จะตามมาคือ เกิดความล่าช้าในการขนส่ง หากเป็นการนำเข้าของที่ต้องชำระค่าภาษีอากร จะถือเป็นความผิดทางศุลกากรฐานหลีกเลี่ยงภาษีอากรอีกด้วย
3) ไม่ระบุรายละเอียดสินค้าให้ถูกต้อง ครบถ้วน: การกรอกข้อมูลไม่ตรงกับสินค้าจริง หรือใส่รายละเอียดสินค้าไม่ชัดเจน เช่น Gift (ของขวัญ) แทนการระบุรายละเอียดลักษณะ การใช้งานของสินค้าอย่างตรงไปตรงมา ย่อมเพิ่มกระบวนการในการตรวจค้น และเป็นสาเหตุทำให้การขนส่งไปต่างประเทศล่าช้าได้
4) ไม่ระบุชื่อ ข้อมูลของผู้ส่งและผู้รับให้ถูกต้อง: การระบุชื่อ-นามสกุล ตามบัตรประจำตัวประชาชน หรือพาสปอร์ต และที่อยู่ หรือชื่อบริษัทที่ตรงตามเอกสารที่ได้รับการรับรองในประเทศนั้น ๆ ถือเป็นข้อกำหนดทางกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับกฎ ระเบียบ การปฎิบัติในด้านความปลอดภัยและการเก็บข้อมูลประกอบการสำแดงด้านศุลกากร
GoTrade: เครื่องมือทรงพลังในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
การช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศกำลังพัฒนาให้เข้าถึงตลาดทั่วโลกเป็นวิธีที่ดีเอชแอลใช้ในการเชื่อมโยงผู้คน และยกระดับคุณภาพชีวิต ความคิดริเริ่มของ GoTrade มาจากการใช้ความเชี่ยวชาญขององค์กรในการช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับเอสเอ็มอีเพื่อให้เข้าถึงตลาดโลกได้ ความท้าทายที่เอสเอ็มอีส่วนใหญ่เผชิญ ได้แก่ กระบวนการนำเข้า/ส่งออกที่ไม่มีประสิทธิภาพ เอกสารที่ใช้เวลานานเพื่อการเข้าถึงตลาดทั่วโลก GoTrade เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ลูกค้าเอสเอ็มอีของดีเอชแอลเข้าใจวิธีหลีกเลี่ยงปัญหาคอขวด ขนส่งสินค้าผ่านด่านศุลกากรได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดีเอชแอลทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในการพัฒนากระบวนการเหล่านี้ เพื่อทำให้เอสเอ็มอีสามารถเติบโต และทำให้การค้าข้ามพรมแดนราบรื่น
นายฉันทพัทธ์ ปัญจมานนท์ ผู้อำนวยการสำนักตลาดพาณิชย์ดิจิทัล กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า “ภาพรวมส่งออกไทยในปี 2565 ยังขยายตัวได้ดี ภายหลังการเติบโตอย่างต่อเนื่อง 12 เดือนจนถึงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา[1] สินค้าส่งออกของไทยบางรายการขยายส่วนแบ่งการตลาดในตลาดหลัก เช่น จีน สหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศอาเซียน ในขณะที่ตลาดเกิดใหม่ เช่น แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกาใต้เป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับเอสเอ็มอีในการทำตลาด โดยปัจจัยที่สนับสนุนการส่งออกของไทยนอกจากการขยายตัวของภาคการผลิต แล้วยังเป็นอิทธิพลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งส่งผลให้มีการนำเข้าสินค้าเข้าไปกักตุนไว้ รวมถึงการส่งเสริมของกระทรวงพาณิชย์ ก็มีบทบาทสำคัญในการขยายตลาดสู่ต่างประเทศ อีกทั้งการมีบริษัทที่มีเครือข่ายระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญด้านการค้าอย่าง ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ก็ช่วยทำให้เรามั่นใจว่าโครงการต่างๆ ของเราดำเนินไปได้อย่างราบรื่น และประสบความสำเร็จ เอสเอ็มอีสามารถใช้ประโยชน์จากศักยภาพการเติบโตของการค้าข้ามพรมแดนโดยไม่มีอุปสรรคด้านโลจิสติกส์ และทำให้การรับ-ส่งสินค้าเป็นไปอย่างราบรื่น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
เฮอร์เบิต วงศ์ภูษณชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ประเทศไทย และหัวหน้าภาพพื้นอินโดจีน เผยว่า “หลายประเทศให้ความสำคัญกับการค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนเพื่อเร่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในตลาดการค้าโลก ในโลกของการค้า โครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์มีบทบาทอย่างยิ่งต่อการลดอุปสรรคคอขวดทางการค้า การค้าข้ามพรมแดนสร้างความเจริญรุ่งเรืองและทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่ยังคงมีอุปสรรคในหลายภูมิภาค และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ GoTrade ความร่วมมือของเรากับ DITP มีเป้าหมายเพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถขายสินค้าระหว่างประเทศได้ผ่านอีคอมเมิร์ซและเครือข่ายที่แข็งแกร่งของเรา เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุม GoTrade ยังได้ออกแบบมาเพื่อช่วยธุรกิจในการดำเนินการด้านศุลกากร เพิ่มปริมาณการส่งออกและนำเข้า และลดอุปสรรคทางการค้าข้ามพรมแดน”
ปาริชาติ ประมุขกุล รองประธานฝ่ายขายและการตลาด บริษัท ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ประเทศไทย จำกัด เผยว่า “ปัจจุบันมีโอกาสมากมายสำหรับเอสเอ็มอีไทยในตลาดการค้าโลก ภายใต้สถานการณ์ที่เอื้ออำนวยต่อการส่งออก เช่น การฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วในหลายประเทศ การผ่อนคลายข้อจำกัดทางการค้า การลงทุนเพิ่มในธุรกิจโลจิสติกส์เพื่อขยายขีดความสามารถในการขนส่งสินค้า และหลายประเทศหันมาส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้ามากขึ้น อย่างไรก็ตามความท้าทายด้านการบริหาร ด้านเทคนิค และกฎระเบียบทำให้เอสเอ็มอีขยายธุรกิจไปต่างประเทศได้อย่างล่าช้า GoTrade ได้เข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาเหล่านี้โดยใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมของเรา รวมถึงให้ความรู้และทรัพยากรเพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีก้าวข้ามผ่านอุปสรรคดังกล่าว”
อ่านบทความได้ที่ https://dhltoyou.com/th/blog/detail/124/DITP-DHL-Express-GoTrade-webinar