ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา เราต้องยอมรับว่าประเทศจีนเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ประเทศจีนเป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลต่อเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าหรือส่งออกสินค้าและบริการ รวมทั้งยังเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเที่ยวทั่วโลกมากที่สุด ถ้าประเทศจีน Boycott ประเทศใดประเทศหนึ่ง นั่นหมายถึงผลลบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ เหมือนอย่างเช่น เวียดนาม เกาหลี และฟิลิปปินส์ ที่เคยถูก Boycott จากรัฐบาลจีนมาก่อน และประชาชนจีนเองก็ค่อนข้างจะมีความเป็นชาตินิยมสูง ยิ่งการที่คนจีนมีการใช้อินเตอร์เน็ตกันอย่างแพร่หลาย รวมทั้งนิยมใช้ Social Media ต่างๆ ทำให้เมื่อใดที่รู้สึกว่าไม่ถูกใจประเทศใดประเทศหนึ่ง ก็จะร่วมกันแอนตี้สินค้าหรือบริการจากประเทศนั้นๆ รวมทั้งเลิกหรือระงับการเดินทางไปเที่ยวประเทศนั้นๆ เป็นต้น
ผมยังจำได้ว่าเคยมีดาราสาวฮอลลีวูดท่านหนึ่ง คือ ชารอน สโตน ซึ่งผู้อ่านที่มีอายุขึ้นต้นด้วยเลข 4 คงจะรู้จักกันแทบทุกคน เธอเคยให้สัมภาษณ์ในทํานองสมน้ำหน้าคนจีน ในช่วงที่เกิดภัยพิบัติเมื่อหลายปีก่อน ส่งผลให้ภาพยนตร์ของเธอถูกแอนตี้จากคนจีนเกือบทั้งประเทศ รวมทั้งรัฐบาลจีนก็ได้สั่งห้ามภาพยนตร์ที่มีเธอนำแสดงอยู่เข้ามาฉายในประเทศจีนด้วย อิทธิพลของจีนที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ภาพยนตร์ฮอลลีวูดหลายเรื่อง ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า มีนักแสดงที่เป็นคนจีนร่วมแสดงในภาพยนตร์เหล่านั้นด้วย เพื่อดึงดูดให้คนจีนมาชมภาพยนตร์ของตน
การลงทุนทั้งทางตรงและทางอ้อมของนักลงทุนและนักธุรกิจสัญชาติจีน กำลังเป็นที่ต้องการของประเทศต่างๆทั่วโลก ยกเว้นประเทศทางแถบตะวันตก ที่อาจจะมีอคติกับประเทศจีน ทำให้การร่วมทุนหรือการซื้อกิจการของธุรกิจบางประเภท โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี มักจะถูกกีดกันโดยรัฐบาลของประเทศเหล่านั้น
ผมได้อ่านรายงานของเจแอลแอลมีชื่อว่า China12: China’s Cities Go Global ซึ่งวิเคราะห์ 12 หัวเมืองบนแผ่นดินใหญ่ของจีน (China12) ซึ่งประกอบไปด้วยเมือง Beijing, Chengdu, Chongqing, Guangzhou, Hangzhou, Nanjing, Shanghai, Shenzhen, Suzhou, Tianjin, Wuhan และ Xi’an ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทรุ่นใหม่ที่กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งบริษัทเหล่านี้มีความเคลื่อนไหวและความมุ่งหวังสูงที่จะเติบโต และจะกลายเป็นคลื่นลูกต่อไปที่จะขยายธุรกิจออกไปยังทั่วโลก ดังจะเห็นได้จากการที่มีบริษัทจีนจำนวนมาก ทั้งที่เป็นบริษัทที่ก่อตั้งมานานแล้วและที่เป็นบริษัทสตาร์ทอัพ ได้ขยายธุรกิจออกไปในต่างประเทศ โดยเฉพาะเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ สิงคโปร์ โตเกียว โซล จาการ์ตา กรุงเทพฯ และเดลี
สิงคโปร์ เป็นเมืองอันดับหนึ่งที่มีบริษัทจากจีนแผ่นดินใหญ่ขยายเข้าไปเปิดดำเนินธุรกิจมากที่สุดในโลก เนื่องจากสิงคโปร์เป็นแหล่งธุรกิจที่มีเสถียรภาพและความโปร่งใสสูงสุดในเอเชีย อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางการเงินของโลก มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงที่แข็งแกร่งกับจีน และมีชัยภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเป็นประตูสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กรุงโตเกียวของญี่ปุ่นตามมาในอันดับที่ 2 และกรุงโซลของเกาหลีใต้อยู่ในอันดับที่ 5 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าบริษัทใหญ่ของจีนจำนวนมากต้องการเปิดดำเนินธุรกิจในเมืองหน้าด่านและศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญของโลก ส่วนจาการ์ตาอยู่ในอันดับที่ 6 และกรุงเทพฯ อยู่ในอันดับที่ 10 เนื่องจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในภูมิภาคสำคัญที่บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนต้องการขยายเข้าไปทำธุรกิจมากที่สุด ส่วนกรุงเดลีของอินเดียตามมาในอันดับที่ 13 เนื่องจากเป็นเมืองหลวงของประเทศที่มีประชากรมากกว่าพันล้าน
บริษัทรายใหญ่ที่สุดของจีนหลายบริษัทเป็นผู้บุกเบิกในการขยายธุรกิจออกไปในต่างแดนและกลายเป็นแบรนด์ที่เป็นที่ยอมรับในระดับโลกในด้านนวัตกรรม ซึ่งหากเทียบขนาดแล้ว แบรนด์ใหญ่ของจีน ดังเช่น ไป๋ตู้ (Baidu) อาลีบาบา (Alibaba) และ เทนเซ็นต์ (Tencent, เจ้าของ WeChat) อยู่บนสังเวียนการแข่งขันกับกูเกิ้ล (Google) อเมซอน (Amazon) และเฟซบุ๊ก (Facebook) ในขณะที่ยักษ์ใหญ่ด้านฮาร์ดแวร์ของจีน ดังเช่น หัวเว่ย (Huawei) แซตทีอี (ZTE) และเลอโนโว (Lenovo) เป็นตัวอย่างของบริษัทจีนที่มีการขยายธุรกิจออกไปทั่วโลกอย่างกว้างขวางมากที่สุด
การขยายธุรกิจเข้าไปในเมืองเหล่านี้ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศอันเป็นตลาดที่มีการเติบโต ช่วยให้บริษัทจีนสามารถเข้าถึงฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่ของเอเชียซึ่งประกอบด้วยเป็นกลุ่มประชากรวัยหนุ่มสาวจำนวนมากและกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ มีบริษัทชั้นนำของจีนจำนวนมากที่แสดงความสนใจในธุรกิจสตาร์ทอัพของอินเดีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจรุ่งเรือง ดังจะเห็นได้จากการมีบริษัทจีนจำนวนมากในกลุ่มธุรกิจอีคอมเมอร์สและสินค้าอุปโภคประเภทอีเล็กทรอนิกส์ เข้าไปมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงในประเทศเหล่านี้บางประเทศ
ในอนาคตอันใกล้ การขยายธุรกิจของบริษัทจีนที่เพิ่มมากขึ้นในหลายๆเมืองของเอเชีย นับตั้งแต่เมืองศูนย์กลางขนาดปานกลางไปจนถึงเมืองขนาดใหญ่ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเมืองเหล่านี้ นอกเหนือจากการเพิ่มขึ้นของความต้องการสำหรับพื้นที่สำนักงานและสถานประกอบการ รวมทั้งเงินทุนที่ไหลเวียนในภูมิภาค คาดว่าหลายๆ เมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะได้รับประโยชน์จากการลงทุนด้านสาธารณูปโภคอันเกี่ยวเนื่องกับยุทธศาสตร์ของจีนที่เรียกว่า ‘ความริเริ่มแถบเศรษฐกิจและเส้นทาง (Belt and Road Initiative หรือ BRI)’ ซึ่งจะช่วยสร้างงานและหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกัน คาดว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ของจีนจะเปลี่ยนวิถีชีวิตการอยู่อาศัยและการทำงานของผู้คนในเมืองเหล่านี้
Credit photo:
http://www.joneslanglasalle.com.cn/
https://www.wsj.com/
https://thespinoff.co.nz
http://www.abc.net.au/
http://udgtv.com
https://technode.com/
คอลัมนิสต์
เรื่อง : กิติชัย เตชะงามเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการลงทุน หนังสือ “จาก1ล้านเป็น500ล้านผมทำอย่างไร” เล่าประสบการณ์การลงทุนของผมที่นำไปใช้ได้ง่ายๆหนังสือ “ออมจากน้อยเป็นร้อยล้าน” แนะวิธีออมเงินเพียงเดือนละหลักพัน ก็เป็นเศรษฐี 100 ล้าน ก่อนอายุ 50 ปี!ติดตามสาระดีๆทั้งไลฟ์สไตล์และการลงทุนได้ที่Facebook : https://www.facebook.com/VI.Kitichai Twitter : http://twitter.com/value_talk Instagram : Gid_KitichaiBlog website : https://kitichai1.blogspot.com You Tube : http://www.youtube.com/c/KitichaiTaechangamlert |