คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.มหิดล เอสซีจี และทันตแพทยสภา ร่วมลงนามความร่วมมือ หนุนวิจัยผลิตภัณฑ์ทันตนวัตกรรม รุกพัฒนางานทันตกรรมไทย พร้อมหนุนนวัตกรรม “ปูนพลาสเตอร์หล่อแบบฟันป้องกันเชื้อโรค” ลดความเสี่ยงติดเชื้อในบุคลากรทันตกรรม ช่วยดูแลทันตสุขภาพประชาชน เดินหน้าสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ส่งเสริมนวัตกรรมไทยสู่
การพึ่งพาตนเอง
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือดำเนินการวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านทันตนวัตกรรม ระหว่าง
คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เอสซีจี และทันตแพทยสภา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและสนับสนุนทันตนวัตกรรมของประเทศไทย ณ SCG Open Innovation Center
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า “ตามที่รัฐบาลได้กำหนดให้มีบัญชีนวัตกรรมไทย
เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยนำผลงานวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมไทย มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ และส่งเสริมผลงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของไทยให้สามารถผลิตสู่เชิงพาณิชย์อย่างมีมาตรฐานในระดับที่เชื่อถือได้ ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยใช้กลไก
การจัดซื้อ จัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ เป็นเครื่องมือทางนโยบายในการส่งเสริมการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมของประเทศ นอกจากเป็นการผลักดันงานวิจัยของภาครัฐไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์แล้ว
ยังถือเป็นการกระตุ้นผู้ประกอบการไทยให้หันมาผลิตผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่คิดค้นโดยคนไทย
“ปูนพลาสเตอร์หล่อฟันสำเร็จรูปสูตรยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโรค” (Antimicrobial Dental Plaster) เป็นทันตนวัตกรรมที่ค้นคว้า วิจัยโดยคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับเอสซีจี นับเป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดูแลทันตสุขภาพของคนไทย โดยการลงนามความร่วมมือดำเนินการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านทันตนวัตกรรมของ 3 องค์กรในครั้งนี้ นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญ นอกจากสนับสนุนนักวิจัยไทยและต่อยอดนวัตกรรมของไทยไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์แล้ว ยังสนองต่อนโยบายรัฐบาลในการผลิตผลิตภัณฑ์นวัตกรรมของไทย ลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศสู่การพึ่งพาตนเอง รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมด้านทันตสุขภาพอื่นต่อไป”
ด้าน ศ.ดร.ทพญ.วรานันท์ บัวจีบ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “บทบาทสำคัญของคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากด้านการสอนเพื่อผลิตทันตแพทย์แล้ว
ยังสนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อนำไปสู่การพัฒนางานด้านทันตกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยปูนพลาสเตอร์หล่อฟันสำเร็จรูปสูตรยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโรคมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อบุคลากรด้านทันตกรรม ทั้งทันตแพทย์ ผู้ช่วยทันตแพทย์ และช่างทันตกรรม รวมถึงประชาชน เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ เนื่องจากคุณสมบัติพิเศษช่วยยับยั้งการแพร่กระจายเชื้อโรคที่พบบ่อยในผิวชิ้นหล่อฟันถึงกว่า 70% เป็นการป้องกันและยับยั้งการติดเชื้อโรคที่มาจากกระบวนการพิมพ์ปากคนไข้ นับเป็นประโยชน์ต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ ทั้งนี้ ปูนพลาสเตอร์หล่อแบบฟันป้องกันเชื้อโรคได้ขึ้นทะเบียนขอรับสิทธิบัตรกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว”
นายยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ การบริหารกลาง เอสซีจี กล่าวว่า “เอสซีจีได้ให้ความสำคัญต่อการทำวิจัยและพัฒนาตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา และมีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางสร้าง
ความร่วมมือด้าน R&D กับทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ของทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อสร้างนวัตกรรมที่มีคุณค่า ปูนพลาสเตอร์หล่อฟันสำเร็จรูปสูตรยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโรค จึงนับเป็นอีกหนึ่งผลงานนวัตกรรมทางด้านสาธารณสุข เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คนไทย รวมถึงเป็นการเพิ่มมูลค่าของ
ปูนพลาสเตอร์ โดยอาศัยเทคโนโลยีพื้นฐานจากการผลิตปูนพลาสเตอร์หล่อแบบมาต่อยอดเทคโนโลยีเพื่อผลิตวัสดุทางทันตกรรม
ปูนพลาสเตอร์หล่อฟันสำเร็จรูปสูตรยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโรคนี้ มี 3 ประเภทการใช้งาน คือ 1. Type 3 (สีเขียว) สำหรับทำชิ้นหล่อแบบฟันเพื่อศึกษาและงานฟันเทียมชนิดถอดได้ 2. Type 2 (สีชมพู) สำหรับทำชิ้นหล่อแบบฟัน เพื่อวางแบบสร้างวัสดุบูรณะฟัน ที่สามารถลอกเลียนรายละเอียดได้ดี และ
มีความแข็งแรงสูง และ 3. Orthodontic Type (สีขาว) เพื่อใช้ศึกษาอวัยวะปริทันต์สำหรับทันตกรรมจัดฟัน
โดยมีคุณสมบัติดีกว่าผลิตภัณฑ์นำเข้าจากต่างประเทศในด้านการยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโรค และ
ได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยตามข้อกำหนดในระเบียบข้อบังคับด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมยุโรป หรือ CE mark และได้รับการขึ้นทะเบียนในบัญชีนวัตกรรมไทย ประกาศโดยสำนักงบประมาณในปี 2561 อีกด้วย”
ผศ.(พิเศษ) ทพ. ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา กล่าวปิดท้ายว่า “ความเสี่ยงการติดเชื้อเป็นปัญหาหนึ่งในงานทันตกรรม โดยเฉพาะกับบุคลากรด้านทันตกรรม ปูนพลาสเตอร์หล่อฟันสำเร็จรูป
สูตรยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโรคนับเป็นทันตนวัตกรรมที่มีประโยชน์ต่อบุคลากรด้านทันตกรรมอย่างยิ่ง เพราะสามารถลดโอกาสเสี่ยงติดเชื้อจากการสัมผัสปูนพลาสเตอร์หล่อแบบฟันและชิ้นหล่อแบบฟันได้ ทั้งยังเป็นการดูแลทันตสุขภาพคนไทย ทันตแพทยสภาในฐานะองค์กรด้านวิชาชีพทันตกรรมจึงขอสนับสนุนนวัตกรรมปูนพลาสเตอร์หล่อฟันสำเร็จรูปสูตรยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโรคนี้ รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อทันตกรรม การลงนามความร่วมมือดำเนินการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้าน
ทันตนวัตกรรมระหว่าง 3 องค์กรในวันนี้ เชื่อว่า จะนำไปสู่การพัฒนาและสนับสนุนนทันตนวัตกรรมของไทย เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศไทยต่อไป”