นับตั้งแต่ Steve Jobs ปล่อย iPhone ออกมาในปี 2007 โลกก็ไม่เหมือนเดิมอีกเลยตลอดไป เมื่อผู้คนได้ทดลองเสพเทคโนโลยีสุดล้ำที่ใช้งานง่ายแค่ปลายนิ้วสัมผัสจากโทรศัพท์มือถือเราจึง ‘ติด’ และขาดมันไม่ได้ คนยุคนี้จึงได้สัมผัสวัฒนธรรมก้มหน้า แค่ปลายนิ้วก็พาเราออกท่องโลกกว้าง ดูคอนเสิร์ตอีกซีกโลกได้ในพริบตา ฯลฯ การเปลี่ยนแปลงสุดล้ำนำมาซึ่งการค่อยๆ เลือนหายไปของธุรกิจบางตัว เช่นเดียวกับการมาถึงของธุรกิจออนไลน์หรือ E-Commerce กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง
อะไรคือธุรกิจออนไลน์
การทำธุรกิจออนไลน์ หมายถึง การขายสินค้าหรือบริการบนหน้าเว็บไซต์ ทั้งขายสินค้าบนเว็บไซต์ที่ลงทุนซื้อโดเมนเนมเอง หรือเว็บฟรี เช่น เฟซบุ๊ค หรือนำสินค้าไปโพสต์ไว้กับเว็บที่ให้บริการลงประกาศขายฟรี ดังนั้น จึงมีต้นทุนเพียงแต่ค่าบริการ หรืออาจพ่วงค่าไฟ (ถ้าทำที่บ้าน) ค่ากาแฟ (ถ้าไปนั่งตากแอร์ในร้านกาแฟ) ค่าสัญญาณ WI-FI เพราะสามารถทำงานได้ทุกที่ ขอเพียงให้มีโน้ตบุ๊คสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตและอาจจะมีต้นทุนด้านการขนส่ง ซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้าเป็นผู้รับภาระเอง เพราะยุคนี้ใครๆ ก็นิยมออนไลน์กันทั้งวันว่างเมื่อไรเป็นต้องก้มหน้าทันที ดังนั้น ธุรกิจทุกอย่างทั้งเล็กทั้งใหญ่น้ำพริก ไส้อั่ว เบเกอรี่ เสื้อผ้า ผ้าทอ เฟอร์นิเจอร์ หนังสือ เครื่องสำอาง ฯลฯ จึงพากันเดินพาเหรดเข้าสู่ยุคอี-คอมเมิร์ซ อย่างเต็มใจ เราจึงได้เห็นธุรกิจที่รุ่นคุณยายก่อตั้ง คุณแม่สานต่อก็ได้อาศัยรุ่นคุณลูกวัยรุ่นมาทำออนไลน์ให้ลูกค้าได้เห็นได้รู้จัก แถมแอพพลิเคชั่น LINE ติดต่อคุยธุรกิจกันทางไลน์
หาเงินได้ง่ายๆ แค่นั่งอยู่บ้าน?
แต่เดิมการทำธุรกิจ อาจจะต้องมีการลงทุนหาทำเลที่ตั้ง จ้างพนักงาน ฯลฯ กว่าจะเริ่มต้นกันได้ต้องสร้างสิ่งต่างๆ ที่อลังการใหญ่โต แต่ปัจจุบันแค่มีเฟซบุ๊ค LINE หรือเว็บไซต์ก็สามารถทำธุรกิจได้แล้ว แม้ว่าจะลดต้นทุนได้มากทำให้ราคาสินค้าและบริการถูกลง ลดขั้นตอนความยุ่งยากไปเยอะ รวดเร็วทันใจ สินค้ามาปุ๊บโพสต์ปั๊บ เปิดหน้าร้านได้ 24 ชั่วโมง ไม่ต้องเฝ้าตลอดแค่จัดสรรเวลาการส่งสินค้าและการโอนเงินให้ลงตัวทั้งลูกค้าและแม่ค้าผู้คนพบเห็นได้ง่าย และลูกค้ามีหลากหลาย อีกทั้งยุคนี้การทำธุรกรรมออนไลน์มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยและน่าเชื่อถือได้มากขึ้น ทั้งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ออกเครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือในการประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การบังคับใช้ พ.ร.บ. การกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ แนวโน้มการออกกฎหมายรับรองเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่จะช่วยรับรองการออกใบเสร็จอิเล็กทรอนิกส์ และในอนาคตจะมี พ.ร.บ.หลักเกณฑ์และวิธีการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (ข้อมูลจาก www.ssmwiki.org) แต่ธุรกิจออนไลน์ก็ไม่ได้ง่ายแบบที่คนจับธุรกิจแนวนี้จะร่ำรวยเงินล้านได้ทุกคน เจ๊งก็มี ขาดทุนหมดตัวไปก็เยอะ เพราะอย่างไรก็ดี การตลาดบนโลกออนไลน์ก็ยังเป็นเรื่องที่จำเป็นเหมือนเช่นการตลาดบนธุรกิจที่จับต้องได้ทั่วไป (ถึงได้เกิดการเปิดหลักสูตรสอนการขายออนไลน์กันมากมาย เลือกไม่ถูกกันเลยทีเดียว) และด้วยความที่ง่าย ไม่ต้องลงทุนมากนี่เองใครๆ ก็เลยพากันทำกันจนกลายเป็นเกลื่อนตลาดเกิดการตัดราคากันขึ้น เพราะฉะนั้น วิธีที่จะทำให้ลูกค้าหันมาสนใจสินค้าของคุณจึงต้องอาศัยกลยุทธ์ทางการตลาดที่จะสร้างความแตกต่างและความโดดเด่นสำหรับวิธีการทำการตลาดออนไลน์นั้นก็น่าจะเป็นเหมือนเช่นการทำธุรกิจทั่วไป ที่ไม่มีสูตรตายตัว คุณอาจจะลองศึกษาจากผู้ที่ประสบความสำเร็จ แล้วเลือกนำข้อดีมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจออนไลน์ของคุณ เลือกนำข้อเสียมาเป็นประสบการณ์เพื่อที่คุณจะได้เดินลัดผ่านพ้นวิกฤตไปได้ ไม่ต้องเสียเวลามาลองผิดลองถูกในข้อที่คนอื่นเคยเจอมาแล้ว
ด้วยความที่ง่าย ไม่ต้องลงทุนมากนี่เองใครๆ ก็เลยพากันทำกันจนกลายเป็นเกลื่อนตลาดเกิดการตัดราคากันขึ้น เพราะฉะนั้นวิธีที่จะทำให้ลูกค้าหันมาสนใจสินค้าของคุณจึงต้องอาศัยกลยุทธ์ทางการตลาดที่จะสร้างความแตกต่างและความโดดเด่น
ถอดบทเรียนไอดอลในโลกออนไลน์และไอดอลระดับโลก
จากการจัดงานสัมมนาหัวข้อ “OneStop Shop On Mobile : ค้าขายบนโซเชียลเน็ตเวิร์ค อย่างไรให้เป็นเศรษฐี” ของนิตยสารเส้นทางเศรษฐี ได้เชิญวิทยากรและผู้ประกอบการ SME ที่ประสบความสำเร็จบนโลกออนไลน์มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนะนำเทคนิควิธีที่ประสบความสำเร็จกับการขายออนไลน์ อาทิ ดุจธนนันท์ เกียรติเชิดแสงสุข เจ้าของคอนแทคเลนส์แฟชั่นแบรนด์ “คิตตี้ คาวาอิ” ซึ่งเกิดจากการเริ่มต้นศึกษาข้อมูลเพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับสินค้า สร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า จนได้โรงงานผลิตคอนแทคเลนส์ในเกาหลี จึงสร้างแบรนด์ขึ้นมา “ครั้งแรกที่ลงทุนซื้อคอนแทคเลนส์ 100 คู่ด้วยเงินทุน 30,000 บาท ขายได้ 100,000 บาท จึงคิดว่าต่อไปเราต้องทำให้ได้มากกว่านี้ จึงขยายกิจการมาเรื่อยๆ จนมีตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ ปัจจุบันมีรายได้ราว 10 ล้านบาทต่อเดือน”
คุณดุจธนนันท์ เริ่มต้นจำหน่ายโดยฝากขายตามเว็บบอร์ดต่างๆ จากนั้นค่อยทำเว็บไซต์และสร้างคอนเทนต์ของแบรนด์ เมื่อได้รับความเชื่อถือจากลูกค้ามากขึ้น จึงสามารถหาตัวแทนจำหน่ายได้ แต่ด้วยกระแสข่าวจากโซเชียลมีเดียที่มีผู้บาดเจ็บที่ดวงตาจากการใช้คอนแทคเลนส์ ส่งผลกระทบให้ “คิตตี้ คาวาอิ” ไม่น้อย จึงต้องหาวิธีเอาตัวรอดด้วยการทำหนังสือยื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของลูกค้ากลับคืนมา “ตอนที่เกิดเรื่องนี้เป็นช่วงที่เพิ่งเริ่มธุรกิจได้ 2-3 เดือน จากนั้นก็คิดทันทีว่าอย่างไรก็ต้องขอ อย. ให้ได้ ทำหนังสือยื่นเอกสารต่างๆ ใช้เวลาทั้งหมด 6 เดือน เป็นแบรนด์คอนแทคเลนส์เจ้าแรกๆ ที่มี อย. พอผ่านวิกฤตนี้มาได้ธุรกิจเราก็เรียกได้ว่าโตแบบก้าวกระโดด” วิธีการของเจ้าของแบรนด์ “คิตตี้ คาวาอิ” คือการรับมือกับวิกฤตกระแสข่าวที่ส่งผลกระทบกับธุรกิจอย่างชาญฉลาด พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยหาวิธีการสร้างความเชื่อมั่นและเรียกความน่าเชื่อถือกลับคืนมาโดยการให้มีระบบที่ตรวจสอบได้ ซึ่งวิธีการนี้ตรงกับ 1 ใน 10 ข้อเทคนิคของแจ๊ค หม่า อภิมหาเศรษฐีชาวจีน เจ้าของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ Alibaba ที่มีทรัพย์สินรวมกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
นอกจากนี้ยังมีเจ้าของเพจชื่อดัง “อีเจี๊ยบ เลียบด่วน” ที่มียอดกดไลค์เพจกว่า 1 ล้านคนว่า ได้เน้นการโพสต์เรื่องราวในชีวิตประจำวัน เรื่องที่คนอึดอัดแต่ไม่สามารถพูดได้ เช่น แท็กซี่ การเสริมความงามอย่างผิดวิธี ฯลฯ โดยเป็นตัวของตนเองให้ความจริงใจกับลูกเพจ พูดคุยเหมือนเพื่อน จึงทำให้ได้รับความสนใจจากผู้คนอย่างล้นหลาม ในขณะเดียวกันก็ต้องรับมือกับคอมเมนต์ที่ไม่หวังดีหรือโพสต์ที่มีความรุนแรงต่างๆ ทำให้ต้องหลีกเลี่ยงเนื้อหาบางประการที่อาจทำให้เกิดความขัดแย้ง อาทิ เรื่องครอบครัว เด็ก ภัยพิบัติ ฯลฯ “อีเจี๊ยบ เลียบด่วน” ยังให้คำแนะนำแก่เจ้าของธุรกิจบนโลกออนไลน์ด้วยว่า มารยาทและสติในการค้าขายเป็นสิ่งสำคัญ มีความจริงใจกับลูกค้า หลีกเลี่ยงการปะทะและสื่อสารกันอย่างมีเหตุผล ไม่ควรเห็นแก่ความสะใจของตนเอง เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้ธุรกิจบนโลกออนไลน์ได้รับการยอมรับและประสบความสำเร็จได้ในที่สุด (ข้อมูลจาก www.prachachat.net)
*CASE STUDY*
ในงาน e-Biz Expo 2015 ซึ่งร้านค้าออนไลน์มาแชร์ประสบการณ์ให้ฟังก็มีความคิดและประสบการณ์ที่น่าสนใจมากมาย อย่างร้าน แสงตะวันบุ๊คส์ ร้านขายหนังสือแปลมือสอง ของคุณปัณณธร จันทร์ปัญญา หรือคุณมุนา ซึ่งเริ่มจากธุรกิจออนไลน์สู่การมีหน้าร้านขายหนังสือมือสองที่ขอนแก่น และร้าน Paper Studio ของคุณป๋อ-ศุภกร สุวรรณทัต
ที่รับออกแบบ และผลิตตราปั๊มใสสำหรับ SME ขนาดเล็กและงานแฮนด์เมด
โดยคุณมุนา เจ้าของร้านแสงตะวันบุ๊คส์ ซึ่งเริ่มต้นด้วยการเป็นนักอ่าน และหาที่จำหน่ายหนังสือออก โดยเริ่มจากตลาดนัดเปิดท้ายที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตลาดถนนคนเดินมะลิวัลย์ จนเกิดไอเดียนำมาขายในเฟซบุ๊ค จนเกิดเป็นอาชีพ ส่วนคุณป๋อ เจ้าของร้าน Paper Studio เริ่มจากอยากมีธุรกิจส่วนตัว และแฟนทำงานด้านงานพิมพ์อยู่แล้ว สังเกตเห็นว่าลูกค้าที่เพิ่งเริ่มทำธุรกิจ จะประสบปัญหากับระบบโรงพิมพ์ เพราะงานพิมพ์ต้องทำในปริมาณมากๆ แต่ SMEs สั่งน้อยชิ้น จึงปรับตัวมาทำตรายางเพื่อให้ตอบโจทย์ จนพัฒนามาเป็นตราปั๊มใสและตรายาง
ทั้งคู่คิดเหมือนกันว่า การเริ่มต้นทำธุรกิจ ไม่เฉพาะออนไลน์ ต้องเริ่มจากการมี Passion มีความสนุกในสิ่งที่ทำ มีความอยากเป็นผู้ประกอบการ คุณมุนา แห่งแสงตะวันบุ๊คส์ บอกว่า “เราไม่สนเลยว่าขายดีไหม ความรู้สึกตอนไปขาย แค่มีคนบอกว่ามีเล่มนี้ด้วย ได้คุยเรื่องที่เราชอบก็โอเคแล้ว พอเริ่มทำเฟซบุ๊ค เราก็บอกกลุ่มคนของเราว่าเข้าไปคุยได้นะ ฐานลูกค้าก็ขยายขึ้นมาเอง พอเราอยู่บนโลกโซเซียล มันแพร่ได้ไว ส่วนเว็บไซต์มาทีหลัง การขายในเว็บสบายกว่าขายผ่านเฟซบุ๊ค เพราะมีระบบสรุปยอดให้ แต่ก่อนจ้างเด็กสรุปยอดให้ เดี๋ยวนี้ใช้ระบบอัตโนมัติ รอรับเงินอย่างเดียว และเว็บยังทำให้เราได้ลูกค้ามีคุณภาพขึ้น ได้ลูกค้าเป็นคนที่ไม่รู้จัก แล้วได้กลุ่มแม่ค้าที่มารับหนังสือต่อมาจาก Google ก็เยอะ โฟกัสของร้านเราตอนนี้ก็จะกลายเป็นในเว็บไซต์ เพราะคิดว่าในเฟซบุ๊คมันเป็นอะไร ชั่วครั้ง ชั่วคราว วูบวาบ แต่ไม่ยั่งยืน” ปัจจุบัน คุณมุนาทำร้านหนังสือมือสองเป็นอาชีพ โดยมีหน้าร้านทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ควบคู่กันไป สำหรับคุณป๋อ จาก Paper Studio เริ่มจากการขายออฟไลน์ โดยทำ Pop-Up Store ควบคู่ไปกับการทำเว็บไซต์ คุณป๋อแนะนำว่า “สิ่งที่เราต้องรู้ก่อนที่จะเริ่มทำออนไลน์ คือเราต้องรู้ว่าเงื่อนไขของการมีเว็บไซต์ของเรามีเพื่ออะไร รู้แล้วเราก็ต้องไปหาข้อมูลอีกว่า คนที่เขาจะเข้ามาคุยกันมันอยู่ตรงไหน เขาคุยทางไหนกัน เขาทำอะไรกันบ้าง เราก็ต้องมาดูสถิติเฟซบุ๊ค 19 ล้านคน มันหมายความว่า มีคนเดินอยู่ในเฟซบุ๊กเยอะมาก เราก็เลยคิดว่าเฟซบุ๊คควรจะเป็นที่พูดคุย แลกเปลี่ยนกัน เราก็เลยเซ็ตให้เฟซบุ๊คเป็นแหล่งรวมผลงานที่เกิดจากตราปั๊ม และถ้าเกิดใครสงสัยอะไร เขาก็จะเข้ามาคุย” นอกจากนี้ในเรื่องคนขายที่มีมากมายบนโลก
ออนไลน์นั้น คุณมุนาแสดงความเห็นว่า “อย่ามองแค่เฟซบุ๊ค ในเว็บไซต์ก็มีไม่เยอะ แล้วในชีวิตจริงก็ไปขายตลาดนัดวางกับดินก็ได้ แค่ในเฟซบุ๊คคุณคิดว่าเพื่อนของเพื่อนของเพื่อนมันไม่เยอะ แต่คนที่เราไม่รู้จักก็อีกเยอะ แล้วไปดูตามเพจตามเว็บที่แม่ค้าลง แต่ละคนก็จะมีกลุ่มตลาดของเขาเอง” ส่วนคุณป๋อแนะนำว่า “จะว่าไปกลุ่มตลาดไม่ได้เกิดมาก่อน พอคุณขายสักพักก็จะมีกลุ่มตลาดของคุณเอง อย่างกลุ่มตลาดผมเป็นศูนย์ ผมเข้ามาก็ต้องหากลุ่มตลาดใหม่ พอทำไปสักระยะ ก็จะมีกลุ่มตลาดของเราเอง แต่ต้องใช้เวลา ส่วนการตัดราคากันมันตัดง่ายมาก แต่ผมมองว่าคุณจะรู้เองว่าจุดแข็งคุณอยู่ตรงไหนที่คุณจะไปต่อได้ แต่อาจจะไปในมุมที่ volume มาก success กันเป็นหมื่นล้าน แต่ก็มี space ของมัน”
การเริ่มขายสินค้า จุดสำคัญที่คุณป๋อแนะนำคือ “คุณต้องหาว่าช่องทางไหนที่จะตอบโจทย์ จะออนไลน์หรือออฟไลน์ก็ได้ ถ้าอย่างออฟไลน์มันมีโอกาสจะโดดต่อไปถึงช่องทางที่ว่าเราเป็นที่รู้จักกับตามในชุมชน และก็จะเป็นในเรื่องของสื่อทีวี สื่อโทรทัศน์ เราก็จะได้ Channel อื่น อย่างของผมก็เลือกช่องทางว่า LnwShop ให้เป็นคลังสินค้า แล้ว
ก็เฟซบุ๊คเพื่อที่จะเป็นช่องทางในการคุยกับลูกค้า Instagram ผมก็เลือก แต่กลุ่มคนใน Instagram น้อยกว่ามาก เพราะเน้นของที่เป็นแฟชั่น คนที่ทำสินค้าพวกนี้ ถ้าเป็นแบบสีสวย Mood and Tone ได้ อันนี้จะเหมาะกับ Instagram” ส่วนคุณมุนาแนะนำว่า “ถ้าอยากเริ่มทำอะไร ไม่ต้องลังเล ทำไปเลย มีชิ้นเดียวก็ทำได้แม่ค้าใหม่ชอบมีคำถามว่า จะขายได้หรือเปล่านะ ร้านค้าออนไลน์แบบนี้เยอะแล้ว ราคาก็ไม่แพง จริง ๆ เราไม่ต้องไปสนใจว่าร้านนั้นขายราคาเท่าไหร่ แค่ว่าเราต้องหาราคาที่เราโอเคกับตัวเอง ไม่สูงมากไป คนซื้อได้ ไม่ต่ำ และไม่ไปตัดหน้าเขาก็พอ อย่างร้านเราขายราคานี้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ตอนนี้ก็ยังขายราคานี้อยู่ บางเจ้าขายถูก ไม่คิดถึงความยากลำบาก ในการกว่าจะได้ของมา ลงเรือมาอีกไม่ได้ซื้อง่าย ๆ ก็อย่าถูกมากอย่าแพงมากนัก แล้วก็ไม่ต้องไปห่วงเลย มีความมั่นใจตัวเอง ขายไปเถอะ ไม่ต้องสนใจ ไม่ต้องไปหวั่นคู่แข่ง ขายของตัวเองไป เดี๋ยวมันจะมาเองขายในทางที่เราโอเค”(ข้อมูลทั้งหมดจาก http://blog.lnw.co.th)
มารยาทและสติในการค้าขายเป็นสิ่งสำคัญ มีความจริงใจกับลูกค้า หลีกเลี่ยงการปะทะและสื่อสารกันอย่างมีเหตุผล
ไม่ควรเห็นแก่ความสะใจของตนเอง เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้ธุรกิจบนโลกออนไลน์ได้รับการยอมรับและประสบความสำเร็จได้ในที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก blog.lnw.co.th, prachachat.net