โควิดจะเริ่มลดลงในเดือนตุลาคมนี้ จากการพยากรณ์ของอาจารย์แพทย์ที่ทำวิจัยด้านนี้หลายๆท่าน ความเข้าใจในเรื่องของวัคซีนที่ไม่ได้ป้องกันไม่ให้ติดโรคแต่ป้องกันไม่ให้เกิดอาการที่รุนแรงก็ดูเหมือนว่าเป็นที่เข้าใจกันดีในหมู่ประชาชนแล้ว จากการที่มีการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างมากและขบวนการด้อยค่าวัคซีนบางชนิดแทบจะไม่พบทางสื่อแล้ว เพราะความเข้าใจที่ว่าวัคซีนแต่ละชนิดที่ผลิตจากกรรมวิธีต่างกันมีจุดเด่นจุดด้อยที่แตกต่างกันออกไป เปรียบเทียบกันได้ยากและการเปรียบเทียบโดยการตรวจภูมิคุ้มกันที่เราตรวจเพียง IgG. ที่ตำแหน่งหนามแหลมเพียงอย่างเดียว ทำให้การวัดผลของวัคซีนไม่ได้ดี
เมื่อเราเริ่มมีการตรวจ ATK ด้วยตนเองมากขึ้นแต่ดูเหมือนว่ายังไม่มีความเข้าใจ ความแตกต่างของ antigen test และ antibody test มักจะคิดว่าการตรวจเลือดหา antibody แม่นยำกว่า
เราเรียกสิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปในร่างกายและสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้ รวมเรียกว่า antigen ตัวอย่างเช่น เชื้อโรค เนื้อเยื่อของคนอื่น เช่น ตับ ไต ตลอดจน สิ่งแปลกปลอมที่เกิดขึ้นภายในร่างกายเอง เช่นเนื้อเยื่อที่กลายพันธุ์จนเป็นมะเร็ง จะถูกร่างกายชี้ว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมเพราะผิดไปจากเดิม
สิ่งแปลกปลอมที่กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้มักเป็นสิ่งที่มีชีวิตโดยเฉพาะที่มีโปรตีนเป็นส่วนประกอบ แต่สารหลายอย่างไม่กระตุ้นเช่น เหล็ก ไททาเนียม โลหะต่างๆ
ภูมิคุ้มกันร่างกายมี 2 ชนิด
ชนิดแรกที่เป็นเม็ดเลือดขาวกำเนิดมาพร้อมกับร่างกายคอยทำลายสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาสู่ร่างกาย เหมือนหน่วยทหารยามที่คอยลาดตระเวนดูตลอดเวลา ชนิดที่สองสร้างจากเม็ดน้ำเหลืองโดยรับข้อมูลหรือพิมพ์เขียวลักษณะและความสามารถของศัตรูจากเม็ดเลือดขาวมาสร้างภูมิคุ้มกันที่มีความจำเพาะเจาะจงไปทำลายศัตรูตามพิมพ์เขียวที่ได้รับมาเท่านั้น ไม่ทำลายสิ่งอื่น แต่มีข้อดีคือมีอำนาจทำลายล้างสูง และเกิด memory ต่อศัตรูชนิดนี้ข้อเสียอีกอย่างคือ ต้องเสียเวลาระยะหนึ่งในการสร้างขึ้นมา
หนึ่งในบรรดาภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นมา มีสิ่งที่ตรวจได้ง่าย อย่างหนึ่งเป็นสาร ไม่ใช่เซลล์ เรียกว่า antibody ที่สร้างมาจากเม็ดน้ำเหลืองชนิด B lymphocytes และเรียกระบบภูมิคุ้มกันนี้ว่า humoral immunity ตรวจได้ง่ายโดยการตรวจเลือด
Antibody เป็นสารชื่อ Immunoglobulin มีชื่อย่อว่า Ig ที่สำคัญคือ IgG และ IgM
การสร้างภูมิคุ้มกันจากเม็ดน้ำเหลือง กินเวลาประมาณ 5-21 วันแล้วแต่ความแข็งแรงของร่างกาย สร้างจากพิมพ์เขียวที่ภูมิคุ้มกันชนิดเม็ดเลือดขาวเอามาแจ้งแก่เม็ดน้ำเหลือง
ชุดตรวจโควิด-19 แบบง่ายที่เข้ามาตั้งแต่แรกๆ และมีราคาถูกเป็นการทำโดยใช้เลือดหยด ตรวจหา antibody ต่อเชื้อโควิด ถ้าพบแสดงว่าคนนั้นต้องเคยติดโควิด หรือเคยได้รับวัคซีนโควิดแต่ถ้าตรวจเร็วไปร่างกายยังสร้างไม่ทัน ก็อาจตรวจไม่พบจะเห็นว่าเป็นการตรวจหาหลักฐานทางอ้อม และมีความคลาดเคลื่อนมากมาย
ในระยะแรกๆของโควิดมีชุดตรวจ antibody เข้ามามากมาย ในจำนวนนั้นมี่ไม่กี่ยี่ห้อที่ผ่านการ approved จาก อย. เตรียมจะขายให้ประชาชนแล้วบริษัทที่นำเข้า ได้นำสินค้าเข้ามาจำนวนมาก เตรียมฟันกำไร หลายพันล้านเพราะสะดวกใช้ตรวจคัดกรองก่อนได้โดยง่าย แต่การแปลผลอาจยุ่งยากบ้าง
แต่อีกไม่กี่วัน ก็มีข่าวมาว่าชุดตรวจ antibody ยี่ห้อนั้นถูกส่งคืนจากประเทศสเปนเพราะเกิดความคลาดเคลื่อนในการตรวจสูงมากจนรับไม่ได้ แม่นยำเพียง 30% เท่านั้นทำเอาบริษัทนั้นที่เมืองไทยไปไม่ถูก อีกหลายบริษัทที่ชุดเขายังไม่ผ่าน อย.ช่วยกันรื้อเรื่องออกมาจนมีการสอบสวนกันในกระทรวงสาธารณสุขว่าผ่านชุดตรวจยี่ห้อนั้นออกไปได้อย่างไร
แต่การตรวจ antigen เป็นการตรวจหาเชื้อไวรัสโดยตรงจากจมูกและคอของผู้ป่วย คือตรวจเจอผู้ร้ายโดยตรง ไม่ได้พบแค่ร่องรอยของผู้ร้าย จะป้ายไวรัสจากจมูกหรือนำ้ลายเอามาตรวจด้วยนำ้ยาสำเร็จรูปที่มีมาให้ เป็นอุปกรณ์สำเร็จรูปที่ตรวจง่ายจึงเรียกว่า Antigen Test Kit ATK. ข้อเสียคือถ้าปริมาณเชื้อไวรัสน้อยก็อาจตรวจไม่เจอแต่การตรวจ RT PCR เป็นการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสจึงมีความแม่นยำสูงแม้จะมีไวรัสเพียงเล็กน้อยก็ตรวจเจอเพราะนำสารพันธุกรรมไปขยายเพิ่มจำนวนจึงใช้เป็นการตรวจเพื่อยืนยันผลที่แน่นอนก่อนการวินิจฉัยโรคและการรักษา
การตรวจโดยชุด ATK ใช้น้ำยาหยด swab ที่ป้ายมาจากคอถ้าป้ายไม่ถูกต้อง ตื้นไป อาจได้เชื้อไวรัสน้อย อาจตรวจได้ผลลบทั้ง ๆ ที่คนไข้ติดโควิด เราเรียกว่า ได้ผลลบลวงที่สูงในชุดตรวจ ATK เกือบทุกยี่ห้อ
ดังนั้น คนที่ตรวจ ATK ได้ผลลบ อาจเป็นโควิดได้ จึงแนะนำให้ตรวจซ้ำหลาย ๆ ครั้ง
ในทางตรงกันข้ามกัน ถ้าตรวจ ATK ได้ผลบวกคนไข้มักเป็นโควิดแล้วยืนยันด้วย RT PCR มักได้ผลบวกเช่นกันคุณสมบัตินี้ใกล้เคียงกันทุกยี่ห้อ เป็นมาตรฐานของชุดตรวจ ATK อยู่แล้ว
ดังนั้น การวัดประสิทธิภาพของชุดตรวจ ATK ว่ายี่ห้อไหนดีกว่ากันเทียบได้โดย ยี่ห้อไหนให้ผลลบลวงน้อยกว่ากัน
คือตรวจคนไข้โควิดแล้วบอกไม่ได้ว่าเป็น หรือผิดน้อยกว่ากันไม่ได้ใช้การตรวจที่ได้ผลบวกเนื่องจากผลใกล้เคียงกันทุกๆยี่ห้อคือมากกว่า 90%
ได้มีงานวิจัยในการใช้ชุดตรวจ ATK ในคนจริงๆ ที่ไม่มีอาการจำนวน 1100 คนที่จังหวัดสมุทรสาคร ทำโดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขและอาจารย์แพทย์จากศิริราช ปรากฎว่า มีความไวในการตรวจพบเชื้อหรือ sensitivityประมาณ 47.75% แต่ในขณะที่ความแม่นยำหรือถูกต้องในการตรวจพบเชื้อโควิดหรือ specificity สูงถึง 99.71% ได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสาร American Journal of Tropical Medicine and Hygiene AJTMH เป็น original article เรียบร้อยแล้ว คงจะออกมาแล้ว
วท.บ., พ.บ., ว.ว.ศัลยศาสตร์ทั่วไป อ.ว.ศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่ทวารหนัก , อ.ว.ศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา F.R.C.S (Edinburgh), F.R.C.S (Ireland), F.A.C.S, F.I.C.S, F.R.S.M
(London), FAM(Malaysia), FCS (Sri Lanka) อดีตประธานราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย