การที่องค์กรใดๆ ก็ตามจะพร้อมและสามารถรองรับต่อการก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 นั้น องค์กรเองก็จะต้องมี ความพร้อมในการก้าวสู่ความเป็นองค์กร 4.0 ที่แท้จริงอีกประเด็นที่จะทำให้เป็น องค์กร 4.0 จะต้องสามารถสร้างสรรค์ ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรม ความคิดใหม่ๆ ที่จะสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องไม่ให้การเปลี่ยนแปลง ดังกล่าว ล่าช้ากว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายนอก ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ก็คือการที่ทั้งองค์กร ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มาใช้ในการขับเคลื่อน เพื่อสร้างคุณค่า จากความโดดเด่น ความแตกต่าง ที่ชัดเจน ส่งเสริมให้ผลงาน วิธีการ ผลิตภัณฑ์ บริการ มีนวัตกรรมที่จะให้เกิดความสำเร็จ สามารถแข่งขัน และสร้างความเติบโต ให้กับทั้งธุรกิจ และประเทศได้
ปรับวิถีสู่องค์กรสร้างสรรค์
ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้น ทั้งใน ตัวพนักงาน ระบบงาน วิธีการบริหารงาน เพื่อให้เป็นแบรนด์เป็น “องค์กรสร้างสรรค์” สร้างหรือผลิตผลงานที่มีนวัตกรรมออกมาให้ได้ เน้นสนับสนุนการส่งเสริมศักยภาพทางความคิดซึ่งกันและกันในทุกระดับแบรนด์องค์กรสร้างสรรค์ องค์กรต้องสร้างบรรยากาศและระบบ ที่สนับสนุนให้เกิดการคิดสร้างสรรค์ ได้ตลอดเวลา
Featured articles
Mood : ความรู้สึกสร้างสรรค์มีอยู่ตลอดเวลา การทำให้ความรู้สึกของคนในองค์กรให้มีความตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา สนใจติดตามข้อมูลข่าวสาร ความรู้ใหม่ๆ ทั้งที่เกี่ยวกับธุรกิจโดยตรงและทางอ้อม มีเวที ช่องทางในการนำเสนอ แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน การจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ กิจกรรมกระตุ้นหรือผลักดันให้เกิดความคิดสร้างสรรค์
Mind Set : ปรับมุมมองอย่างสร้างสรรค์ การที่องค์กรมองว่างานเป็นของใครของมัน แยกแผนกแยกส่วน ไม่เอื้อเฟื้อ ห่วงใย ให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันไม่แบ่งแยกตัดขาด ต้องมองแบบภาพรวม ติดตามช่วยเหลือ ช่วยคิดแก้ไขปัญหา เหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้บริหารจำเป็นจะต้องสร้างมุมมองความคิดใหม่ๆ เหล่านี้ให้เกิดขึ้น ทั้งการรณรงค์ ปลูกฝัง จนกระทั่งความคิดสร้างสรรค์อย่างมีส่วนร่วม เป็นค่านิยมภายในองค์กรให้ได้
Mechanics : สร้างกระบวนการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ การเร่งให้ทุกคนในองค์กรได้ปล่อยของหรือความคิดดีๆ ต้องมีแรงกระตุ้น เช่นการได้รับการยอมรับ รางวัล สิ่งจูงใจ ไม่ว่าจะเป็นคำชม ยกย่อง หรือรางวัลต่างๆ ที่จำเป็นต้องถูกวางเป็นระบบหรือกระบวนการที่เป็นมาตรฐาน
Momentum : กระตุ้นและผลักดันให้ตื่นตัว สร้างสรรค์สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน การผลักดันดังกล่าวคงไม่ใช่กระแสแต่ว่าต้องมีการปลุกเร้าอย่างต่อเนื่อง กำหนดให้เป็นนโยบาย มีการติดตาม วัดผล ประเมินผล เพื่อไม่ให้ขาดตอนหรือแค่เป็นกระแสในบางช่วง
จากความคิดสร้างสรรค์สู่การกลั่นกรอง
ความคิดสร้างสรรค์นั้น ถือเป็นความเท่าเทียมกัน ของทุกคน นั่นคือไม่ควรตัดสินในทุกความคิด แต่ควรรวบรวมให้ได้มากที่สุดก่อน ให้โอกาสทุกคน ในการได้ออกความเห็น ไม่มีคำว่า หัวหน้า ลูกน้อง เพื่อต้องการให้เกิดอิสระทางความคิดให้มากที่สุด เมื่อได้ความคิดแล้ว จึงไปสู่การคัดสรร หรือ idea selection ด้วยการคิดวิเคราะห์ คัดเลือก ที่ส่วนใหญ่มักทำพร้อมๆ กันจึงทำให้ไม่สามารถได้ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ออกมา เพราะทุกคนล้วนต่างกลัวการถูกตัดสินจากผู้อื่นและกลายเป็นความรู้สึกที่ไม่ดีต่อการคิดสร้างสรรค์ ต่อไป
เรื่องของความคิดสร้างสรรค์ เป็นการแสดงออกทางความคิดเพื่อค้นหาหรือแนวทางใหม่ๆ สำหรับการนำไปใช้ หรือในการเริ่มต้นเพื่อพัฒนาหรือต่อยอด ที่อาจจำเป็นต้องนำมาผ่านระบบการกลั่นกรอง อีกครั้งหนึ่ง จากเดิมที่คิดแบบหลุดโลก นอกกรอบ สู่การวิเคราะห์ สกัดความเป็นไปได้ หรือหาความเชื่อมโยงสนับสนุน เพื่อนำมาใช้จริง ด้วยวิธีดึงกลับมาให้อยู่ในครรลองขององค์กร ภายใต้เหตุผล เป้าหมาย วัตถุประสงค์ ปรับปรุงให้สอดคล้องกับวัฒนธรรม สถานการณ์ ลักษณะขององค์กร แต่ยังคงความแปลกใหม่ ภายใต้ความคิดสร้างสรรค์เหล่านั้นอยู่
บางทีความคิดอาจไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ที่แหวกแนว อาจเริ่มจาก Key Resource ต้นทุน สิ่งที่เรามีอยู่แล้ว เพียงเพิ่มนวัตกรรมบางอย่างเข้าไป เพื่อเพิ่มศักยภาพให้มากขึ้น ก็ทำให้องค์สร้างสรรค์ผลงานได้มากขึ้น
ในการสร้างสรรค์ใหม่ๆ ในการระดมความคิด หรือรวบรวมความคิด ควรจะมีความหลากหลาย ทั้งอายุ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ หน่วยงาน ความรู้ ความรับผิดชอบ มากกว่าไปกระจุกให้กับหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เพราะความคิดสร้างสรรค์ อยู่ในตัวทุกคน โดยไม่ควรมองข้ามหรือเน้นที่ใดที่หนึ่งมากเกินไป โดยเฉพาะเรื่องขององค์กรที่ต้องการความเข้าใจที่ครบทุกส่วน
ขยายความคิดแล้วนำมาเข้าระบบขององค์กร
ความเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบัน และอนาคตมีผลต่อความคิดสร้างสรรค์โมเดลใหม่ๆ ดั้งนั้น ข้อมูลที่เกี่ยวกับอนาคต เทคโนโลยี การตลาด ผู้บริโภค สภาพการณ์ภายใน ภายนอก เพื่อนำสู่การวิเคราะห์หรือคาดการณ์ที่น่าเชื่อถือจึงต้องถูกเตรียมไว้
การขยายแนวคิด เป็นการขยายขอบเขตของเนื้อหาความคิด หรือคำตอบ ว่าแนวคิดนั้นๆ มีความเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง ที่สามารถขยายออกไปได้ การระดมความคิดเพื่อหามุมมองที่หลากหลาย ก่อนวิพากษ์วิจารณ์หรือวิเคราะห์ สำหรับขั้นตอนการคัดเลือกความคิด ลดแนวคิดให้เหลือน้อยลง เพื่อสามารถบริหารจัดการได้ ด้วยการจัดหมวดหมู่ เช่น การสร้างและขยายโอกาส การสร้างรายได้ การส่งเสริมการตลาด การดูแลลูกค้า ความได้เปรียบในการแข่งขัน การพัฒนาบุคลากร การปรับปรุงระบบการทำงาน เป็นต้น
สร้างตัวต้นแบบ แนวคิด ที่ควรเหลือเพียงแค่ 3-5 ประเด็น และมีการลำดับความสำคัญแล้ว เราจึง นำมา ใส่ลงในโมเดลที่จะทำให้เราได้เห็นภาพ แต่ละความคิด ในรูปแบบ ที่ชัดเจน และเข้าใจได้ การหาข้อสรุป อาจอยู่ในรูปของการจะส่งตัวแทนเพื่อเป็นคณะกรรมการ หรือ คณะทำงานสร้างสรรค์ ที่จะผลักดันให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิด ระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้ทุกคนในองค์กรได้มีเวทีแสดงความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ บ้าง
จากนั้นจึงเข้ามาสู่กระบวนการ การอภิปราย ควรมีคนกลางในการช่วยดำเนินการให้ดำเนินไปอย่างราบรื่น เพื่อให้มีมุมมองที่แตกต่าง บางครั้งอาจมีที่ปรึกษาหรือบุคคลที่เชี่ยวชาญจากภายนอก เข้าไปช่วยจัดการแนวคิดให้มีความน่าสนใจหรือแหลมคม มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
Creative Leadership ผู้นำในการสร้างสรรค์
อีกประการที่เป็นสำคัญสำหรับการก้าวสู่การเป็น Creative Organization Brand ได้นั้น ไม่เพียงแต่พนักงาน เท่านั้น ความคิดสร้างสรรค์ในองค์กรจะเกิดขึ้นได้ ผู้บริหารระดับกลาง จนถึงระดับสูง ต้องเป็นผู้ที่มีสไตล์การบริหารแบบ Creative Leadership หรือผู้นำที่มีความคิดสร้างสรรค์ การร่วมงานกับผู้ที่ต่าง หรือ คิดไม่เหมือนย่อมทำให้ได้มุมที่แตกต่างออกไปต่าง มีความอยากรู้อยากเห็น อดทน เพราะบางครั้งอาจมีปัญหาในการสื่อสารเพื่อแสวงหา หรือทำความเข้าใจต่อประเด็นที่นำเสนอ ที่ต้องมีทักษะด้านการสื่อสาร สอบถาม เพิ่มเติม ให้กำลังใจ คำชื่นชม คำแนะนำ ข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์แก่ทีมงาน ในบรรยากาศขององค์กรที่ดีและเอื้ออำนวยต่อความคิดสร้างสรรค์ด้วย
ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการจัดการสื่อสารและที่ปรึกษายุทธศาสตร์สื่อสารองค์กรชั้นนำ www.drphot.com