ในยุคสมัยที่มีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้ง่ายๆ การลงทุนในธุรกิจต่างๆ จึงต้องคำนึงถึงภูมิคุ้มกันต่อความเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งแหล่งเงินทุนที่สำคัญอย่าง ธนาคารกสิกรไทยยังได้ทำหน้าที่ในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีความแข็งแกร่งเพื่อรองรับการแข่งขันทางธุรกิจ คุณพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงานธุรกิจลูกค้าผู้ประกอบการ ได้สะท้อนวิสัยทัศน์ตอบรับต่อการลงทุนและข้อคิดของการบริหารเงินให้เหมาะสมกับกระแสโลกที่ผันแปรไปอย่างในทุกวันนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ประกอบการ
“ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ภาพรวมของธุรกิจ SME มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยส่วนของธนาคารในฐานะผู้ปล่อยกู้ ในวันนี้เราปล่อยกู้ได้เยอะขึ้น เพราะผู้ประกอบการเกิดความมั่นใจในเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างง่ายๆ เมื่อ 3 เดือนก่อนหน้านี้ ถ้าอยากลงทุนหรือซื้อทรัพย์สินอะไรสักอย่างก็ยังไม่กล้า แต่ทุกวันนี้ไม่ว่าจะซื้อรถ ซื้อคอนโดฯ ทำธุรกิจ จับจ่ายใช้สอยก็มีมากขึ้น ลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการจึงเกิดความต้องการทางด้านการเงินตามไปด้วย ทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจดูดีขึ้นกว่าช่วงต้นปี และมีทิศทางที่จะโตได้มากกว่านี้ แต่สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น กำไรของผู้ประกอบการและความมั่งคั่งก็ลดลง ความกล้าในการทำธุรกิจของเขาก็อาจจะไม่ได้มีมากเหมือนเมื่อ 2-3 ปีก่อน” คุณพัชร อธิบายถึงภาพรวมของธุรกิจ SME ไทยในปัจจุบัน และทิศทางในด้านการลงทุนของผู้ประกอบการ“เป็นสิ่งสำคัญมากเลยนะครับ หากเรารู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต โอกาสโตมีมากมีน้อยหรือไม่โตเลย ก็จะช่วยให้วางแผนได้ถูกทาง ซึ่งผมมองว่าความแน่นอนในเรื่องของภูมิคุ้มกันสำหรับเหตุการณ์ในอนาคต อาจจะสำคัญกว่าอัตราการเจริญเติบโตก็ได้”
การพัฒนาศักยภาพ SME
ในเมื่อภาพรวมของธุรกิจมีทิศทางที่ต้องคำนึงถึงอนาคตมากขึ้น การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ เป็นอีกหนึ่งภารกิจของ K SME ที่พร้อมส่งเสริมเพิ่มเติมจากแค่การเป็นแหล่งเงินทุน เพื่อให้ผู้ประกอบการเติบโตอย่างเข้มแข็ง
และยั่งยืน แม้จะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายดายแต่คุณพัชรในฐานะหัวเรือใหญ่ที่ดูแลลูกค้าผู้ประกอบการ กล่าวถึงความพยายามในการดำเนินงานว่า “นับว่าเป็นเรื่องที่พูดง่าย ทำยาก สำหรับการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ เพราะในแต่ละผู้ประกอบการต่างก็มีโจทย์ไม่เหมือนกันบางคนก็มีปัญหาเรื่องต้นทุน บางคนก็หาตลาดใหม่ไม่ได้ บางคนมีปัญหาเรื่องสต๊อกสินค้า พอมีปัญหาที่ไม่เหมือนกันการพัฒนาศักยภาพก็ต้องทำทีละราย ต้องใช้เวลาและความพยายามซึ่ง ณ วันนี้สิ่งที่เราทำ ก็คือช่วยในเรื่องเงินก่อน ไม่ได้แปลว่าต้องให้เงินเยอะๆ แต่ให้อย่างพอดี ไม่ให้เกิดการลงทุนที่มากเกินไป นี่คือหน้าที่แรกของธนาคาร หน้าที่ที่สองคือ ช่วยลดต้นทุนของการทำธุรกรรมทางการเงิน ที่ต้องเสียทั้งเวลาและการเดินทาง หน้าที่ที่สามคือช่วยในเรื่องของการสร้างคอนเนกชั่น เพราะคนส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น คนซื้อของคนขายของ ทุกคนเป็นลูกค้าของเรา ซึ่งเราช่วยให้ทุกๆ คนมารู้จักกัน เป็นสื่อกลางที่พาทุกคนมาเจอกันก็เป็นสิ่งที่เราพยายามทำอยู่ครับ” นอกจากนี้การก้าวเข้าสู่การเป็น ‘ประชาคมอาเซียน’ K SME ยังมีความพยายามในด้านการสนับสนุนผู้ประกอบการอย่างค่อยเป็นค่อยไป “ผมมีความเห็นว่า ทุกวันนี้ลูกค้านำเราไปก่อนไกลมากแล้ว ไม่ได้รอให้เปิดตลาด AEC เราก็ต้องไปค่อยๆ ไปตามเพื่อให้บริการใน 2 เรื่องคือ ให้เงินทุนที่พอดีกับธุรกิจของเขา และช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรมเช่นเดียวกัน แต่ที่ผ่านมาก็ยังยาก เพราะเรื่องของการแลกเงิน ก็ยังคงทำนอกระบบอยู่ และการซื้อของก็ยังใช้เงินสดมากกว่าการเดินบัญชี เพราะฉะนั้นเราก็ต้องพัฒนาตัวเราเองให้มีความพร้อมแล้วจึงตามไปสนับสนุนเขาให้ทัน”นอกจากการเล็งเห็นความสำคัญในด้านการพัฒนาตัวเองแล้ว การกำหนดเป้าหมายสำหรับอนาคตก็ไม่ควรละเลยเช่นกัน ดังนั้นเป้าหมายที่เป็นตัวกำหนดทิศทางในอนาคต คุณพัชรกล่าวว่า “เนื่องจากทางกสิกรไทยมีผู้ที่ต้องดูแลหลักอยู่ 3 รายคือ ลูกค้า ผู้ถือหุ้น และพนักงาน โจทย์ก็คือ พยายามสร้างความพึงพอให้ทั้ง 3 ส่วนเท่าๆ กัน ทำอย่างไรให้ลูกค้าได้รับบริการที่พึงพอใจสูงสุดผู้ถือหุ้นพอใจในผลประกอบการและพนักงาน พึงพอใจในงานและผลตอบแทนที่ได้รับ นอกจากนี้ ยังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานสำหรับพนักงาน ให้สามารถดูแลลูกค้าให้มากขึ้น เมื่อดูแลลูกค้ามากขึ้น ทำให้เห็นถึงปัญหาและความต้องการของลูกค้าเพื่อการปรับปรุงแก้ไขให้มีประสิทธิภาพ”
การบริหารเงินของผู้ประกอบการ
ในฐานะที่เป็นผู้ที่คลุกคลีในวงการการเงิน คุณพัชร ได้ฝากข้อคิดทิ้งท้ายให้กับผู้ประกอบการในด้านการบริหารวงเงินให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ด้วยวิธีการจัดระเบียบกระเป๋าสตางค์ให้ได้ประโยชน์สูงสุด “ผมแนะนำว่า กระเป๋าส่วนตัวกับกระเป๋าธุรกิจไม่ควรใช้ร่วมกัน เพราะจะทำให้ความสามารถทางธุรกิจแย่ลง แต่กลายเป็นว่าในบัญชีหนึ่ง มีการเบิกเงินค่าเทอม เบิกเงินค่ารถ เก็บเงินลูกค้า ปะปนกัน ปัญหาคือผู้ที่จะปล่อยสินเชื่อมาให้กับธุรกิจของคุณเติบโตขึ้น ไม่สามารถเห็นได้ว่าในปีๆ หนึ่ง รายได้ของคุณเท่าไหร่ และรายจ่ายของคุณเท่าไหร่ ซึ่งกว่า 80% ของผู้ที่มาขอสินเชื่อยังเป็นเช่นนั้น ต้องเข้าใจว่าธนาคารเป็นสถาบันที่ไม่ได้รู้ลึกในด้านเดียว เพราะฉะนั้นจะต้องมีภาษาๆ หนึ่งที่ทำให้คุยกันได้ สำหรับธนาคารคือ ภาษาตัวเลข และผลประกอบการ ถ้าหากไม่ชัดในเรื่องเงิน ก็จะลำบากมากในการที่จะขอสินเชื่อ เช่น ผู้ประกอบการได้เงินมา 2,000 บาท แต่ก็มีรายจ่ายออกไป 2,000 บาท โดยไม่ผ่านบัญชีธนาคารไม่เห็นรายการตรงนี้ สิ่งที่จะแก้ไขได้ การเดินบัญชีกับธนาคาร ยิ่งเดินบัญชีมาก ยิ่งทำให้ธนาคารรู้จักมาก จนเกิดเป็นความไว้วางใจและเชื่อใจว่าสิ่งที่ลูกค้าได้รับจากธนาคารไป จะช่วยให้ธุรกิจเจริญเติบโตและแข็งแกร่งอย่างยั่งยืน” ทั้งหมดทั้งมวลของหลักการบริหารงานด้วยวิสัยทัศน์ของคุณพัชร สมะลาภา ได้สะท้อนให้เห็นว่า K SME พร้อมที่จะพัฒนาและอยู่เคียงข้างลูกค้าผู้ประกอบการอย่างเต็มความสามารถ เพื่อการเติบโตอย่างแข็งแกร่งรับมือกับอนาคตข้างหน้าต่อไป
What we do today is supporting them financially. We give them enough while keeping ourselves from over-investing