บริษัท มิตรแท้ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ส่งฝ่ายกฎหมายเจรจาข้อเท็จจริงกับบริษัท โซล มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ต่อกรณีจัดทำประกาศเผยแพร่ไปในช่องทางโซเชียลมีเดียว่ามิตรแท้ประกันภัยมีปัญหาตามข่าวลือ Blacklist บ.ประกันฯ ลูกค้าจะต้องสำรองเงินค่าซ่อมรถก่อน นับเป็นรายแรกที่มิตรแท้ประกันภัยดำเนินการเอาจริงหลังจากที่เริ่มมีกระแสข่าวลือ Blacklist บ.ประกันฯ ออกมาระบาดอีกครั้งตั้งแต่ต้นปี 2565 นี้
คุณสุขเทพ จันทร์ศรีชวาลา ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตรแท้ประกันภัย จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงเข้าร่วมรับฟังการกล่าวขอโทษและแสดงความเสียใจจากคุณอรรถพันธ์ ยุกตะนันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โซล มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด หลังจากที่ได้จัดทำสื่อเผยแพร่ไปในช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยอ้างถึงชื่อบริษัท มิตรแท้ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ว่ามีปัญหาตามข่าวลือ Blacklist บ.ประกันฯ ลูกค้าจะต้องสำรองเงินค่าซ่อมรถก่อน ซึ่งเป็นการสร้างความเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์อันดีของมิตรแท้ประกันภัยเป็นอย่างมาก ต่อเมื่อได้ทราบว่าข้อมูลข่าวลือฯ เหล่านั้นล้วนเป็นเท็จทั้งสิ้นจึงได้เร่งเดินทางเข้าพบ CEO มิตรแท้ประกันภัยเพื่อกล่าวขอโทษและมอบกระเช้าแสดงความเสียใจต่อการกระทำนั้นทันทีและพร้อมจะแสดงความรับผิดชอบด้วยการลงประกาศข้อความขอโทษและยืนยันว่ามิตรแท้ประกันภัยเป็นบริษัทที่มีความมั่นคงไม่ได้มีปัญหาใดๆ ผ่านหนังสือพิมพ์ระดับแนวหน้าของประเทศอีกเป็นเวลา 3 วันต่อเนื่องและจะนำไปเผยแพร่ผ่านช่องทางโซเชียลต่างๆ อย่างเต็มที่อีกด้วย ณ สำนักกรรมการผู้จัดการ ชั้น 10 อาคารมิตรแท้ประกันภัย ถนนสี่พระยา กรุงเทพมหานคร
บริษัท มิตรแท้ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจด้วยความมั่นคงมากกว่า 75 ปี มีทุนจดทะเบียนกว่า 1,618 ล้านบาท ในปี 2564 ที่ผ่านมามีเบี้ยประกันภัยรับรวมกว่า 4,100 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ถึง 7% จึงขอเตือนว่าข่าวลือเรื่อง Blacklist บริษัทประกันภัยที่มีการเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย ซึ่งปรากฏชื่อของบริษัทฯ ด้วยนั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ข่าวลือดังกล่าวมีการส่งต่อกันมากว่า 20 ปีแล้วและบริษัทฯ ได้ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่ส่งต่อเผยแพร่ไปแล้วหลายราย รวมถึงเลขาธิการสำนักงาน คปภ. ทั้งในอดีตและท่านปัจจุบันได้เคยออกแถลงข่าวแล้วหลายครั้งยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ผู้ที่ผลิตข่าวเท็จ บิดเบือนและนำออกเผยแพร่บนโซเชียลมีเดีย หรือ นำข้อความเท็จเข้าระบบคอมพิวเตอร์อาจก่อให้เกิดความเสียหาย หรือสร้างความตื่นตระหนกแก่ประชาชน รวมถึงผู้ที่ส่งต่อข้อมูลเท็จโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลเท็จ อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ซึ่งมีโทษตามกฎหมาย