สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่(NEA) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมผลักดันการสร้างเครือข่ายธุรกิจส่งออกให้กับผู้ประกอบการไทยกว่า 800 ราย ผ่านโครงการ Smart Exporter เพื่อสร้างทางรอดในช่วงที่ทั่วโลกประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ และการค้าระหว่างประเทศชะลอตัว รวมถึงผลักดันให้แต่ละธุรกิจได้มีโอกาสเข้าถึงตลาดที่มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น พร้อมชี้ผลสำเร็จจากการจัดโครงการที่ผ่านมา เกิดมูลค่าทางการค้ากว่า 64,000 ล้านบาทและทำให้ผู้ประกอบการไทยได้มีโอกาสเจาะตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้ดึงนักส่งออกไทยร่วมแชร์ประสบการณ์และกลยุทธ์การทำตลาดธุรกิจมะพร้าวแปรรูปในช่วงที่เกิดกระแสการต่อต้านมะพร้าวไทย รวมถึงเทคนิคการขยายตลาดไปในต่างประเทศ
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมีเป้าหมายสำคัญที่จะพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการธุรกิจการค้าระหว่างประเทศให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ในทุกบริบท โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่จำเป็นต้องสร้างทางรอดให้กับผู้ประกอบการผ่านการบ่มเพาะเทคนิคและองค์ความรู้ รวมถึงผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญด้านหนึ่งคือ การสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มทางการค้า รวมถึงสร้างการเติบโตในรูปแบบครือข่ายเพื่อให้การประสบความสำเร็จในมิติต่าง ๆ เป็นไปในแบบห่วงโซ่และเกื้อกูล ทั้งยังเป็นการสร้างความแข็งแกร่งจากการที่ต่างฝ่ายต่างได้รับประโยชน์จากความร่วมมือ ดังที่จะเห็นได้ในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก
ที่ผ่านมาสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ หรือ NEA จึงได้จัดหลักสูตร “ผู้ส่งออกอัจฉริยะ : Smart Exporter” ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทยไปพร้อมๆ กับการพัฒนาสินค้าและบริการให้ตรงกับความต้องการของตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้ กรมได้มีการจัดโครงการฝึกอบรม “ผู้ส่งออกอัจฉริยะ : Smart Exporter” ตั้งแต่รุ่นที่ 1 จนถึงรุ่น 19 ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวสามารถผลิตนักรบทางการค้าเป็นผลสำเร็จ จำนวนทั้งสิ้น 871 ราย และสามารถสร้างมูลค่าส่งออกประมาณ 64,300 ล้านบาทในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในปีหน้า กรมจะเปิดรับสมัครผู้ประกอบการเข้าร่วมหลักสูตร “ผู้ส่งออกอัจฉริยะ : Smart Exporter” รุ่นที่ 20 และ 21 โดยจะจัดทั้งในกรุงเทพฯและภูมิภาค เพื่อปูทางการทำธุรกิจส่งออกให้ไปถึงในระดับภูมิภาค และส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างทั่วถึง
นายสมเด็จ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการสร้างเครือข่ายและการส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มทางการค้านั้น สิ่งสำคัญที่กรม มีความมุ่งหวังให้เกิดผลสัมฤทธิ์กับผู้ประกอบการและส่งต่อไปยังภาพรวมของเศรษฐกิจไทย คือ 1.ทำให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นและส่งเสริมภาวะผู้นำให้กับตนเอง ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจส่งออกของไทยเป็นที่ยอมรับผ่านภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือ และเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้แต่ละอุตสาหกรรม หรือแต่ละธุรกิจก้าวสู่ผู้นำในระดับภูมิภาคหรือระดับโลก 2.เมื่อเกิดการรวมกลุ่มจะทำให้ผู้ประกอบการไทยมีอำนาจและสามารถต่อรองการค้าได้ในหลาย ๆ บริบท ซึ่งเป็นความได้เปรียบอย่างหนึ่งทางเศรษฐกิจทำให้ธุรกิจเล็ก ๆ ที่มารวมตัวกันได้รับผลประโยชน์ต่าง ๆ เทียบเท่ากับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในหลากหลายด้าน และมีวิธีการจัดการองค์กรด้วยเทคนิคที่หลากหลายขึ้น 3.ทำให้ในบางธุรกิจที่ยังเข้าไม่ถึงในบางตลาดได้มีการเรียนรู้ และนำไปต่อยอดเพื่อขยายสินค้าและบริการไปยังประเทศเป้าหมายได้ในอนาคต และ 4 .เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในระดับท้องถิ่น หรือในระดับภูมิภาค (Local) ได้มีโอกาสนำพาตนเองก้าวสู่ระดับสากล ซึ่งจะส่งผลไปถึงการจ้างงาน และเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นที่เติบโตขึ้น
ด้าน นางอารดา เฟื่องทอง ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่(NEA) กล่าวว่า เพื่อเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์และขยายเครือข่ายผู้ประกอบการ Smart Exporter ในแต่ละรุ่น เพื่อให้เกิดความรู้จักและดำเนินธุรกิจแบบ “พี่ช่วยน้อง” และ “เพื่อนช่วยเพื่อน” สถาบัน NEA จึงได้จัดงานรวมรุ่น Smart Exporter ครั้งแรกในปี 2562 ภายใต้โครงการเชื่อมสายใย Smart Exporter และในปีนี้กับชื่องาน The Billionaire Club 2020 – Challenge the New Normal โดยโครงการดังกล่าวได้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด Challenge the New Normal สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและรวดเร็วทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมประกอบด้วยกิจกรรมหลัก 3 กิจกรรม ได้แก่ Business Review การทบทวนกลยุทธ์และแนวทางการทำธุรกิจโดยอาจารย์ที่ร่วมในหลักสูตร Smart Exporter และ Business Lesson Learned การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยศิษย์เก่าSmart Exporter และ Business Network กิจกรรมการเชื่อมสัมพันธ์ผู้ผ่านหลักสูตร Smart Exporter ทั้ง 19 รุ่น ภายใต้แนวคิด “ครอบครัว Smart Exporter”
นางอารดา กล่าวเสริมว่า สำหรับศิษย์เก่าที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ที่สำคัญ ได้แก่ คุณณัฐดนัย นิลเอก บริษัท ทรอปิคานา ออยล์ จำกัด (Smart Exporter รุ่นที่ 16) เจ้าของธุรกิจสินค้าน้ำมันมะพร้าว และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสกัดจากน้ำมันมะพร้าวกว่า 100 ชนิด ภายใต้ชื่อแบรนด์ “ทรอปิคานา” ส่งออกกว่า 20 ประเทศทั่วโลก มาแชร์ประสบการณ์การแก้ปัญหาการทำธุรกิจท่ามกลางกระแสการต่อต้านมะพร้าวจากไทย คุณอธิษฐ์พัชร นิพิษฐาภัทร บริษัท โอแฟงห์ จำกัด (Smart Exporter รุ่นที่ 17) เจ้าของธุรกิจขนมครกสิงคโปร์แบรนด์ “ท่าช้าง” ได้ตัดสินใจขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศ โดยการขาย Franchise ธุรกิจขนมครกท่าช้างให้กับนักธุรกิจ CLMV และนอกจากนี้ ได้นำ Smart Exporter รุ่นอื่นๆ ไปเจาะตลาด CLMV
คุณอำพูล เอื้อจงมานี บริษัท ดาสมุทร จำกัด (Smart Exporter รุ่นที่ 14) เจ้าของธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป/ปลาเส้นปรุงรสยี่ห้อ Full Fish โดยก่อนเข้าร่วมหลักสูตร Smart Exporter คุณอำพูลไม่มีประสบการณ์ด้านการส่งออกเลย แต่หลังจากจบหลักสูตร ก็ได้เริ่มทำการส่งออกจนประสบความสำเร็จ โดยปัจจุบันส่งออกสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านและอื่น ๆ รวม 8 ประเทศ คุณพรรณี ชิตรัตฐา บริษัท คัพเวอร์ เอิร์ท จำกัด (Smart Exporter รุ่นที่ 16) ผู้นำกลุ่มศิษย์เก่า Smart Exporter รุ่น 16 และรุ่น 17 เดินทางบุกเบิกตลาดแอฟริกาและประสบความสำเร็จอย่างดีกับการก่อตั้งสมาคมการค้าไทย-ยูกันดาขึ้นเป็นครั้งแรก และคุณนพดา อธิกากัมพู บริษัท นพดาโปรดักส์ จำกัด (ประธาน Smart Exporter รุ่นที่ 18) เจ้าของธุรกิจกระเทียมดำ แบรนด์ B-Garlic ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ร่วมกับคุณปรเมศร์ สายอุปราช บริษัท ลีฟ ครีโอชั่น จำกัด (Smart Exporter รุ่นที่ 18) เจ้าของธุรกิจผลิตภัณฑ์ใบตองตึงแบรนด์ “Mr.Leaf” โดยทั้งคู่ได้นำเปลือกกระเทียมดำมาผลิตกระเป๋าและอุปกรณ์ที่ใช้ในสำนักงาน นี่จึงถือเป็นตัวอย่างผู้ประกอบการจากโครงการ Smart Exporter ที่ได้นำเครือข่ายธุรกิจมาเชื่อมโยงกัน เพื่อคิดค้นและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆขึ้นมา เพื่อนำไปพัฒนาร่วมกันต่อไปในอนาคต อีกด้วย
หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) ได้ที่ nea.ditp.go.th หรือ www.ditp.go.th และ www.facebook.com/nea.ditp หรือ 1169 กด 1