ผมว่าถึงเวลาที่เราควรจะยอมรับความจริงกันนะครับว่า ประเทศไทยเรามีประชาชนที่อยู่ใต้เส้นขีดของความยากจนอยู่เป็นจำนวนมาก มีความเหลื่อมล้ำของรายได้และฐานะของสังคมเป็นอย่างมาก และมีแนวโน้มว่าประเทศไทยเราคงจะติดกับดักของการเป็นประเทศชาติที่มีรายได้ประชากรปานกลางอีกไปเป็นสิบๆปี
จากสรุปผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ 2561 ที่จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป 56.41 ล้านคน โดยแบ่งเป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 38.3 5 ล้านคน ซื่งเป็นผู้มีงานทำ 37.87 ล้านคน(ในจำนวนนี้มี 15% ที่ทำงานไม่เต็มเวลา) โดยคนไทยที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็น 12.43 ล้านคน คิดเป็น 32.82% และทำงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการ 25.44 ล้านคน คิดเป็น 67.18% ผู้ว่างงาน 0.35 ล้านคน(กลุ่มผู้ที่ว่างงานส่วนใหญ่เป็นผู้ที่จบระดับอุดมศึกษา) ผู้รอฤดูกาล 0.13 ล้านคน และผู้อยู่นอกกำลังแรงงาน 18.06 ล้านคน ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ที่ทำงานบ้าน 5.34 ล้านคน ผู้ที่เรียนหนังสืออยู่ 4.24 ล้านคน และอื่นๆ(คนชรา เด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี คนพิการ ฯลฯ) 8.48 ล้านคน ตามภาพที่ 1, 2 และ 3
ภาพที่ 1 : โครงสร้างกำลังแรงงาน
ตัวเลขข้างบนฟ้องว่า รัฐเองไม่เคยมีการวางแผนระบบการศึกษา ให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจเท่าที่ควร ทำให้นักศึกษาที่จบระดับอุดมศึกษาบางคณะหางานทำยาก ขณะที่บางคณะมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงาน จึงไม่แปลกใจที่เห็นว่ากลุ่มที่ว่างงานส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่จบระดับอุดมศึกษา น่าเสียดายที่สํานักงานสถิติแห่งชาติ ไม่ทำแยกให้เห็นกลุ่มนักศึกษาอาชีวะ ที่จบทั้งปวช. และปวส. ว่ามีอัตราการว่างงานเป็นอย่างไร จะยิ่งทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น
จากการสํารวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2560 (ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลล่าสุด) ซึ่งสํานักงานสถิติแห่งชาติได้ทําการเก็บรวบรวมข้อมูลทุกเดือน (มกราคม – ธันวาคม 2560) จากครัวเรือนตัวอย่างในทุกจังหวัดทั่วประเทศ พบว่าจํานวนประมาณ 52,000 ครัวเรือน ทั้งในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาล ในปี 2560 ครัวเรือนในประเทศไทย มีรายได้และค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 26,946 และ 21,437 บาท ตามลําดับ สัดส่วนของค่าใช้จ่ายต่อรายไดประมาณร้อยละ 79.6 โดยส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการทำงานร้อยละ 71.9 ซึ่งได้แก่ ค่าจ้างและเงินเดือนร้อยละ 45.1 กำไรสุทธิจากการทำธุรกิจร้อยละ 18.1 และกำไรสุทธิจากการทำการเกษตรร้อยละ 8.7 และมีรายได้ที่ไม่ได้เกิดจากการทำงาน เช่น เงินที่ได้รับความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นนอกครัวเรือน/รัฐ ร้อยละ 11.6 รายได้จากทรัพย์สิน เช่น ดอกเบี้ยร้อยละ 1.4 นอกจากนั้นยังมีรายได้ที่ไม่เป็นตัวเงินในรูปสวัสดิการ/สินค้า และบริการต่างๆร้อยละ 13.8 ตามภาพที่ 4
ภาพที่ 4 : ร้อยละของรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือน จำแนกตามแหล่งที่มาของรายได้ปี 2560
มีจํานวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้น 178,994 บาท ซึ่งคิดเป็น 6.6 เท่าของรายได้ จํานวนครัวเรือนที่เป็นหนี้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 49.1 ในปี 2558 เป็น 50.7 ในปี 2560 ส่วนใหญ่ครัวเรือนเป็นหนี้ในระบบอย่างเดียวร้อยละ 90.0 หนี้นอกระบบอย่างเดียวร้อยละ 5.8 สําหรับครัวเรือนที่มีหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบมีเพียงร้อยละ 4.2 เท่านั้น
ภาพรวมทั้งประเทศของความไม่เท่าเทียมกันของรายได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย คือ เมื่อแบ่งครัวเรือนทั่วประเทศออกเป็น 5 กลุ่มเท่าๆ กัน พบว่าในปี 2560 กลุ่มที่มีรายได้สูงสุดมีส่วนแบ่งของรายได้ร้อยละ 45.0 ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้ต่ําสุด.มีส่วนแบ่งของรายได้เพียงร้อยละ 7.1
เนื้อที่หมดแล้ว ติดตามบทความหน้ากันนะครับ ว่าทำไมรัฐควรช่วยเหลือคนจนที่ขยัน และเลิกช่วยคนจนที่ขี้เกียจกันครับ
คอลัมนิสต์
เรื่อง : กิติชัย เตชะงามเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการลงทุน หนังสือ “จาก1ล้านเป็น500ล้านผมทำอย่างไร” เล่าประสบการณ์การลงทุนของผมที่นำไปใช้ได้ง่ายๆหนังสือ “ออมจากน้อยเป็นร้อยล้าน” แนะวิธีออมเงินเพียงเดือนละหลักพัน ก็เป็นเศรษฐี 100 ล้าน ก่อนอายุ 50 ปี!ติดตามสาระดีๆทั้งไลฟ์สไตล์และการลงทุนได้ที่Facebook : https://www.facebook.com/VI.Kitichai Twitter : http://twitter.com/value_talk Instagram : Gid_KitichaiBlog website : https://kitichai1.blogspot.com You Tube : http://www.youtube.com/c/KitichaiTaechangamlert |