สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานพิธีพระราชทานรางวัล และทรงเปิดนิทรรศการ “โครงการรางวัลยุวศิลปินไทย” โดยมูลนิธิเอสซีจี ครั้งที่ 15 ประจำปี 2561 แก่ผู้ชนะ พร้อมเสด็จฯ ไปยังห้องจัดแสดงนิทรรศการ และทรงตัดแถบแพรเปิดนิทรรศการแสดงผลงาน ตลอดจนทรงวาดภาพฝีพระหัตถ์ โดยมีนายเชาวลิต เอกบุตร กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจี นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร นางสาวสุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี พร้อมด้วย นางพูลศรี จีบแก้ว ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป และคณะผู้จัดงานร่วมเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า เขตพระนคร กรุงเทพฯ
นายเชาวลิต เอกบุตร กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า “มูลนิธิเอสซีจีเป็นองค์กรสาธารณกุศลที่มุ่งมั่นเรื่องการพัฒนาคน และตระหนักถึงการพัฒนาศักยภาพเยาวชนที่มีความสามารถด้านศิลปะจึงได้ร่วมกับหน่วยงานด้านการศึกษา และการส่งเสริมศิลปะหลายแห่งทั่วประเทศ ดำเนิน “โครงการรางวัลยุวศิลปินไทย” มาตั้งแต่ปี 2547 เพื่อค้นหาเยาวชนที่มีความสามารถทางศิลปะที่โดดเด่นอัน พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนได้เกิดความกระตือรือร้นในการสร้างสรรค์ผลงานอันนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพของวงการศิลปะไทยให้ก้าวไปสู่การยอมรับในระดับสากล เพราะการสร้างยุวศิลปินถือเป็นการวางรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาวงการศิลปะไทยอย่างยั่งยืนสืบไป”
สำหรับปี 2561 ผลงานที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมสาขาศิลปะ 2 มิติ ได้แก่ “จิตใต้สำนึกที่ซ่อนเร้น” โดย นางสาวนิตยา เหิรเมฆ ผลงานที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมสาขาศิลปะ 3 มิติ ได้แก่ “ลมหายใจของสิ่งมีชีวิตภายใต้การกำหนดของมนุษย์” โดยนายภาราดา ภัทรกุลปรีดา ผลงานที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมสาขาภาพถ่าย ได้แก่ “สภาวะซ่อนเร้น” โดยนายปรเมษฐ์ จิตทักษะ ผลงานที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมสาขาภาพยนตร์ ได้แก่ “เงาสูญสิ้นแสง” โดยนายกฤษดา นาคะเกตุ ผลงานที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมสาขาวรรณกรรม ได้แก่ “กระดาษคำตอบ” โดยนายชลัช จินตนะ และผลงานที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมสาขาการประพันธ์ดนตรี ได้แก่ “จิ๋งเญ่า” โดยนางสาวชุดาลักษณ์ พินันท์ ซึ่งผู้ที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมทั้ง 6 สาขา รับเงินรางวัลคนละ 150,000 บาท พร้อมศึกษาดูงานศิลปะระดับโลก รางวัลดีเด่นจำนวน 26 คน รับเงินรางวัลคนละ 50,000 บาท และ รางวัล Final List จำนวน 2 คน รับเงินรางวัลคนละ 10,000 บาท
ด้านนายภาราดา ภัทรกุลปรีดา เจ้าของรางวัลยอดเยี่ยมสาขาศิลปะ 3 มิติ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากพฤติกรรมการใช้แรงงานสัตว์ของมนุษย์ที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและไม่มีที่สิ้นสุด ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้จะไม่ได้ใช้แรงงานเหมือนในอดีต แต่ก็ยังคงหลงเหลือพฤติกรรมต่างๆ เช่น การล่าม การขัง การฝึกสัตว์ ที่ทำให้เห็นว่ามนุษย์นั้นได้นำความเป็นคนใส่ลงไปในสัตว์
“ผมต้องการสะท้อนสังคมผ่านเรื่องราวของช้างที่ต้องเจอกับความทุกข์ยาก ความหดหู่ และความเศร้า
จากการถูกควบคุมขัง บังคับใช้แรงงาน ยัดเยียดภาระหน้าที่และความรับผิดชอบตามความต้องการของคน โดยที่สัตว์เหล่านั้นไม่ได้ต้องการภาระหน้าที่ แต่ก็ไร้หนทางที่จะปฏิเสธ เป็นการสื่อให้ถึงความเจ็บปวดของสัตว์ที่มีลมหายใจ”
ด้านนางสาวชุดาลักษณ์ พินันท์ เจ้าของผลงานรางวัลยอดเยี่ยม สาขาการประพันธ์ดนตรี “จิ๋งเญ่า” ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือเรื่องเจ้าหงิญ ซึ่งเป็นหนังสือที่เล่าเรื่องของโลกในจินตนาการมาผสมกับโลกความเป็นจริง โดยในเรื่องได้พูดถึงคุณค่าของการแสวงหาความสุขในชีวิต การเรียนรู้ประสบการณ์ทางอารมณ์ วิธีการเผชิญหน้ากับปัญหาและอุปสรรค เกิดเป็นแรงสร้างสรรค์ในการพัฒนาวิธีการใช้เสียงต่างๆ ของแซกโซโฟน
“คำว่า จิ๋งเญ่า มาจากคำผวนของคำว่า เจ้าหญิง ต้องการเล่นคำเพื่อแสดงให้เห็นว่า เราสามารถมองเห็นสิ่งเดิมในมุมมองใหม่ได้ และสามารถนำสิ่งใหม่เหล่านั้นมาพัฒนาต่อยอดในอนาคต ซึ่งบนประพันธ์ดนตรี จิ๋งเญ่า จึงถือได้ว่าเป็นการนำความสามารถของแซกโซโฟนในรูปแบบต่างๆ มาสร้างสรรค์ดนตรีใหม่แต่ยังคงความเป็นธรรมชาติของเครื่องดนตรีเดิมอยู่”
สำหรับการประกวดรางวัลโครงการยุวศิลปินไทย ประจำปี 2562 ได้เปิดโอกาสให้ยุวศิลปินอายุ
18-25 ปี ได้ใช้จินตนาการผสานกับศักยภาพทางศิลปะ ถ่ายทอดความงดงามให้ปรากฏในรูปของผลงานศิลปะสร้างสรรค์จรรโลงสังคม จำนวน 6 สาขา ได้แก่ ศิลปะ 2 มิติ ศิลปะ 3 มิติ ภาพถ่าย ภาพยนตร์ วรรณกรรม และการประพันธ์ดนตรี สามารถติดตามรายละเอียด ได้ทาง Facebook : YoungThaiArtistAward หรือ www.scgfoundation.org และเปิดรับผลงานตั้งแต่วันนี้-กรกฎาคม 2562