นีลเส็น (Nielsen) ร่วมกับอาลีเพย์ (Alipay) เผยรายงานการสำรวจแนวโน้มการชำระเงินผ่านมือถือระหว่างการท่องเที่ยวในต่างประเทศของชาวจีนประจำปี 2561 (“2018 trends of Chinese mobile payment in outbound tourism”) โดยรายงานให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มล่าสุดของการท่องเที่ยวในต่างประเทศและพฤติกรรมการบริโภคของนักท่องเที่ยวชาวจีน
จากการสำรวจความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวชาวจีนกว่า 2,800 คน และผู้ค้าในต่างประเทศกว่า 1,200 ราย รายงานดังกล่าวสรุปว่างบประมาณโดยเฉลี่ยสำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางไปต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยนักท่องเที่ยวหันมาใช้การชำระเงินผ่านมือถือขณะท่องเที่ยวในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ในการเดินทางไปต่างประเทศครั้งล่าสุด นักท่องเที่ยวชาวจีนใช้การชำระเงินผ่านมือถือเพื่อทำธุรกรรมราว 32% ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่สัดส่วนของการชำระเงินผ่านมือถือแซงหน้าเงินสด
นอกจากจะเพิ่มความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวชาวจีนแล้ว วิธีการชำระเงินผ่านมือถือยังช่วยปรับปรุงการดำเนินงานของผู้ค้าในต่างประเทศอีกด้วย โดย 58% ของผู้ค้าที่ตอบแบบสอบถามระบุว่า หลังจากที่เปิดให้บริการรับชำระเงินผ่านอาลีเพย์ ลูกค้าที่เดินเข้าร้าน (foot traffic) มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ 56% เปิดเผยว่ายอดขายเพิ่มสูงขึ้น
ผลการสำรวจความคิดเห็นในครั้งนี้ให้มุมมองใหม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดผู้บริโภคชาวจีนซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ขณะที่ชาวจีนเดินทางไปท่องเที่ยวทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การใช้จ่ายและการตัดสินใจเลือกของนักท่องเที่ยวชาวจีนมีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้น
ประเด็นสำคัญในรายงานมีดังนี้:
- นักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นในปี พ.ศ. 2561 โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ตอบแบบสอบถามเยี่ยมชมประเทศ/ภูมิภาค 8 แห่ง จาก 2.1 แห่งในปี พ.ศ. 2560 ทั้งยอดใช้จ่ายจริงโดยเฉลี่ยและงบประมาณสำหรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางไปต่างประเทศเพิ่มขึ้นแบบปีต่อปี โดยงบประมาณที่ตั้งไว้สำหรับการเดินทางเพิ่มขึ้น 15% เป็น 6,706 ดอลลาร์ (ประมาณ 214,592 บาท) และยอดใช้จ่ายจริงโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 6% เป็น 6,026 ดอลลาร์ (ประมาณ 192,832 บาท)
- การใช้จ่ายในส่วนของช้อปปิ้ง ค่าที่พัก และค่าอาหาร ยังคงเป็น 3 หมวดหมู่อันดับสูงสุดสำหรับการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวจีน ขณะที่ส่วนลด คุณภาพ และราคา เป็น 3 ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการของนักท่องเที่ยวชาวจีน
- นักท่องเที่ยวชาวจีนจากเมืองรอง (Second-tier cities) กลายเป็นแรงขับเคลื่อนใหม่ที่สำคัญในตลาดการท่องเที่ยวต่างประเทศของจีน โดย 38% ของนักท่องเที่ยวจากเมืองรองเดินทางไปยุโรปในปี พ.ศ. 2561 แซงหน้าสัดส่วนของผู้ตอบแบบสอบถามจากเมืองหลัก (First-tier cities) เป็นครั้งแรก นอกจากนี้ 22% ของนักท่องเที่ยวจากเมืองรองเดินทางไปเที่ยวอเมริกาเหนือ โดยสัดส่วนใกล้เคียงกับนักท่องเที่ยวชาวจีนจากเมืองหลัก
- นักท่องเที่ยวชาวจีนเลือกจุดหมายการเดินทางที่ออกแนวผจญภัยเพิ่มมากขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2561 ราว 10% ของนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางไปเที่ยวภูมิภาคเอเชียกลาง เอเชียตะวันตก และแอฟริกา ซึ่งนับว่าเพิ่มขึ้นอย่างมากจากปีก่อนหน้า คนรุ่นมิลเลนเนียล (Millennials) ของจีนเป็นผู้นำเทรนด์ในการเลือกจุดหมายปลายทางที่แปลกใหม่ โดย 18% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2533 ถึง พ.ศ. 2542 เดินทางไปยังเอเชียกลางและตะวันตก รวมถึงแอฟริกา ขณะที่ 5% เดินทางไปยังประเทศแถบนอร์ดิก
- คนรุ่นมิลเลนเนียลของจีนไม่ได้เป็นผู้ใช้กลุ่มใหญ่ที่สุดที่ใช้การชำระเงินผ่านมือถือในต่างประเทศอีกต่อไป เพราะคนรุ่นก่อนหน้า (Gen X) กำลังก้าวตามมาติดๆ โดย 68% ของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2513 ถึง พ.ศ. 2522 ใช้วิธีการชำระเงินผ่านมือถือขณะที่เดินทางไปต่างประเทศในปี พ.ศ. 2561 เกือบเท่ากับเปอร์เซ็นต์ของชาวจีนรุ่นมิลเลนเนียลที่ใช้การชำระเงินผ่านมือถือขณะที่เดินทางไปต่างประเทศในช่วงปี พ.ศ. 2561
- ปัจจุบัน นักท่องเที่ยวชาวจีนใช้การชำระเงินผ่านมือถือในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยในปี พ.ศ. 2561 กว่า 60% ของนักท่องเที่ยวชาวจีนทำการชำระเงินด้วยโทรศัพท์มือถือในประเทศและภูมิภาคต่างๆ ตั้งแต่สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ไปจนถึงยุโรป สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ขณะที่ 90% ของผู้ค้าที่ตอบแบบสอบถามในสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย รายงานว่าพบเจอลูกค้าชาวจีนที่สอบถามว่าทางร้านเปิดรับชำระเงินผ่านมือถือหรือไม่
- วิธีการชำระเงินผ่านมือถือนอกจากจะเพิ่มความสะดวกให้แก่ลูกค้าชาวจีนแล้ว ยังช่วยเพิ่มยอดขายให้กับผู้ค้าในท้องถิ่นอีกด้วย โดย 71% ของผู้ค้าที่เปิดรับชำระเงินผ่านอาลีเพย์ระบุว่า ตนเองมีแนวโน้มที่จะแนะนำอาลีเพย์ให้แก่ผู้ค้ารายอื่นๆ
- การชำระเงินผ่านมือถือโดยนักท่องเที่ยวชาวจีนในต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ค้ามีความเข้าใจเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับแพลตฟอร์มการชำระเงินผ่านมือถือของจีน ส่งผลให้ผู้ค้าในต่างประเทศยินดีที่จะปรับใช้โซลูชั่นการชำระเงินผ่านมือถือของจีนเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ข้อมูลจากผู้ค้าในสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทยชี้ว่า 60% ของผู้ค้าที่ใช้แพลตฟอร์มการชำระเงินผ่านมือถือของจีนในปัจจุบันมีแนวโน้มว่าจะแนะนำวิธีการชำระเงินดังกล่าวให้แก่ผู้ค้ารายอื่นๆ ส่วนในบรรดาผู้ค้าที่ยังไม่ได้เปิดรับชำระเงินผ่านมือถือ 55% มีแนวโน้มอย่างมากว่าจะปรับใช้โซลูชั่นการชำระเงินผ่านมือถือของจีนในอนาคต
เกี่ยวกับ แอนท์ ไฟแนนเชียล
กลุ่มบริษัท แอนท์ ไฟแนนเชียล เซอร์วิสเซส (Ant Financial Services Group) มุ่งมั่นที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อมอบโอกาสที่เท่าเทียมกันให้แก่ผู้คนทั่วโลก เทคโนโลยีต่างๆ ของเรา เช่น บล็อกเชน (Blockchain), ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence), ระบบรักษาความปลอดภัย, Internet of Things และระบบประมวลผล ช่วยให้เราและพาร์ทเนอร์ในระบบนิเวศน์ของเราสามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มคนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบ (Unbanked) หรือกลุ่มคนที่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบได้บ้าง (Underbanked) โดยนำเสนอบริการด้านการเงินที่ปลอดภัย โปร่งใส ประหยัดค่าใช้จ่าย และเข้าถึงได้ง่ายสำหรับบุคคลทั่วไปและธุรกิจเอสเอ็มอีทั่วโลก แอนท์ ไฟแนนเชียล ได้จัดตั้งความร่วมมือระหว่างประเทศกับพาร์ทเนอร์ทั่วโลก เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าในตลาดดังกล่าว และเราให้บริการแก่นักท่องเที่ยวชาวจีนในต่างประเทศ ด้วยการเชื่อมโยงอาลีเพย์กับผู้ค้าออนไลน์และออฟไลน์ในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 แอนท์ ไฟแนนเชียล และพาร์ทเนอร์ธุรกิจร่วมทุน ให้บริการแก่ผู้ใช้ 870 ล้านคนทั่วโลก แบรนด์ต่างๆ ภายใต้กลุ่มบริษัท แอนท์ ไฟแนนเชียล เซอร์วิสเซส ได้แก่ Alipay, Ant Fortune, Zhima Credit, MYbank และ Ant Financial Cloud
เกี่ยวกับอาลีเพย์
อาลีเพย์ (Alipay) ดำเนินงานโดยกลุ่มบริษัท แอนท์ ไฟแนนเชียล เซอร์วิสเซส (Ant Financial Services Group) เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มการชำระเงินออนไลน์และโมบายล์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยเริ่มเปิดให้บริการเมื่อปี 2547 และปัจจุบันมีสถาบันการเงินในประเทศกว่า 200 แห่งเข้าร่วมเป็นพันธมิตร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อาลีเพย์ได้พัฒนาจากบริการดิจิตอลวอลเล็ต (Digital Wallet) สู่เครื่องมือที่รองรับไลฟ์สไตล์อย่างสมบูรณ์ โดยผู้ใช้สามารถเรียกแท็กซี่ จองห้องพักโรงแรม ซื้อตั๋วภาพยนตร์ จ่ายค่าสาธารณูปโภค นัดหมายเพื่อพบแพทย์ หรือซื้อผลิตภัณฑ์ด้านการบริหารสินทรัพย์ได้โดยตรงจากภายในแอพ นอกเหนือจากการชำระเงินออนไลน์แล้ว อาลีเพย์ยังขยายครอบคลุมการชำระเงินแบบออฟไลน์ในร้านค้าทั้งในและนอกประเทศจีนอีกด้วย บริการชำระเงินในร้านค้าของอาลีเพย์ยังครอบคลุมกว่า 40 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก ส่วนการขอคืนภาษีผ่านอาลีเพย์สามารถทำได้ใน 29 ประเทศและภูมิภาค อาลีเพย์ร่วมมือกับสถาบันการเงินและผู้ให้บริการชำระเงินในต่างประเทศกว่า 250 แห่ง เพื่อรองรับการชำระเงินระหว่างประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางไปต่างประเทศ รวมถึงลูกค้าต่างชาติที่ซื้อสินค้าจากเว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซของจีน ปัจจุบันอาลีเพย์รองรับ 27 สกุลเงิน