การท่องเที่ยวไทยนับเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้ให้ประเทศไทยเป็นอันดับต้นๆ หากเทียบกับรายได้ด้านอื่นๆ ของประเทศ แม้ว่าประเทศไทยจะจัดว่ามีสถานการณ์ที่ผันแปรต่อการท่องเที่ยวหลายอย่าง แต่ด้านการท่องเที่ยวของไทยก็ถือว่าได้รับผลกระทบในระยะสั้นๆ เท่านั้น
บทบาทของการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ นับว่าส่งผลต่อการส่งเสริมรายได้จากเงินตราต่างประเทศได้เป็นอย่างดี นั่นคือ การท่องเที่ยวได้กลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ เนื่องจากการท่องเที่ยวก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและผลกระทบที่กระตุ้นการลงทุน ส่งผลดีต่อการสร้างให้เกิดการเติบโตทางการเงินในระบบเศรษฐกิจต่างๆ หลายประการ ทั้งรายได้จากแหล่งท่องเที่ยว ที่พัก เงินตราต่างประเทศ การสร้างงานและการสร้างโอกาสทางธุรกิจ รายได้ของชุมชน เงินตราจากต่างประเทศ รายจ่ายในการท่องเที่ยวทุกส่วน รวมถึงการนำเข้าและส่งออกสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวก่อให้เกิดรายได้ในระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งสิ้น
4 ผลสืบเนื่องสำคัญต่อการท่องเที่ยวต่อระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในภาพรวมของชุมชน
Contribution to Government Revenues : การส่งเสริมรายได้แก่รัฐ ภาครัฐถือว่าเป็นผลดีโดยตรง นั่นคือได้รับรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อม การสร้างรายได้ทางตรงเกิดจากภาษีเงินได้ที่รับจากผู้ประกอบการและพนักงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีภาษีที่เก็บจากนักท่องเที่ยวอีก ได้แก่ ภาษีสนามบินในการเดินทางขาออก ภาษีที่เก็บจากสินค้าและบริการที่ขายให้กับนักท่องเที่ยว Employment Generation : การสร้างงาน การท่องเที่ยวระหว่างประเทศเป็นอีกปัจจัยในการสร้างงาน ทั้งที่ผ่านธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร สถานที่พักผ่อน แหล่งบันเทิง ห้างสรรพสินค้า บริการรถรับส่งและการจำหน่ายของที่ระลึก ที่สามารถสร้างงานโดยตรง รวมทั้งธุรกิจสินค้าและบริการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกัน Stimulation of Infrastructure Investment : กระตุ้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ผลต่อเนื่องจากการท่องเที่ยวทำให้เกิดการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ เช่น ปรับปรุงถนน ระบบไฟฟ้า โทรศัพท์ การขนส่งสาธารณะ สาธารณูปโภคพื้นฐาน ระบบกำจัดขยะ น้ำเสีย เพื่อช่วยส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยว และคุณภาพชีวิตคนในท้องถิ่นดีขึ้น ไปพร้อมๆ กับการจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการท่องเที่ยว Contribution to Local Economies : การส่งเสริมเศรษฐกิจของท้องถิ่น หากท้องถิ่นใดมีทรัพยากรธรรมชาติหรือทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นที่สามารถส่งเสริมทางการท่องเที่ยวได้ ก็นับว่าเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเศรษฐกิจท้องถิ่นนั้นๆ ที่จะมีช่องทางทำรายได้จากการท่องเที่ยว ทำให้ตัววัดมูลค่าทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น นำมาขยายผลได้ เช่นการจัดตลาดนัด ถนนคนเดิน การเปิดธุรกิจที่เกี่ยวข้อง การเปิดบริการต่างๆ เป็นการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นโดยตรง |
เอกลักษณ์ของความเป็นชาติที่สัมผัสได้คือวัฒนธรรม ความเป็นอยู่
วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่ง เป็นสิ่งที่แสดงออกถึงเอกลักษณ์ประจำชาติ ที่ได้ผ่านการสั่งสมและถ่ายทอดจากบรรพบุรุษถึงปัจจุบัน แม้ว่าในแต่ละพื้นที่จะมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่ก็ก่อให้เกิดความหลากหลายทางวัฒนธรรม จึงถือได้ว่าวัฒนธรรมเป็นสมบัติที่สำคัญของชาติ ที่ควรรักษา เผยแพร่สื่อสารให้เกิดความเข้าใจ การสืบทอดด้วยความชื่นชม เห็นคุณค่า ทั้งในหมู่ของคนไทยเอง และในระดับนานาชาติ
การสื่อสารทางวัฒนธรรมที่เปรียบเสมือนการใช้เครื่องมือที่มนุษย์ในแต่ละท้องถิ่นได้ใช้อยู่ร่วมกัน แม้ว่าในอดีตจะสื่อสารเฉพาะระหว่างสมาชิกในสังคมนั้นๆ หรือเป็นการใช้ความสัมพันธ์ที่เป็นไปอย่างใกล้ชิด ขณะที่การเติบโตของนวัตกรรมทางการสื่อสารทำให้เกิดการจัดการความรู้และแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม โดยผ่านการเรียนรู้ที่รวดเร็วที่อาจทำให้ขาดความเข้าใจที่ลึกซึ้งหรือทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดพลาด ในทางกลับกันหากมีการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ เข้าใจที่ถูกต้อง และการนำไปประยุกต์ใช้ ย่อมเป็นการทำให้คุณค่ากับวัฒนธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่ดีงาม ควรค่าอย่างยิ่งแก่การสืบทอดให้ดำรงอยู่คู่ประเทศต่อไป และขยายวงการรับรู้ไปยังนานาชาติหรือทั่วโลกได้
การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกับการสื่อสารทางวัฒนธรรมของไทย
ประเทศไทยนับว่าที่อุดมไปด้วยทรัพยากรที่เหมาะสมแก่การท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์หรือวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น นำมาซึ่งความเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจของชุมชนจนถึงระดับประเทศ หากมีการนำทรัพยากรทั้งที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลายและมีมายาวนาน มาพัฒนาหรือบูรณาการกับการท่องเที่ยวอย่างเหมาะสม จะทำให้ผู้ประกอบการการท่องเที่ยว และประชาชนในท้องถิ่นได้รับประโยชน์มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
การสร้างและนำจุดแข็งของวัฒนธรรมของไทยที่มีความน่าสนใจ โดดเด่น งดงาม นำเป็นประเด็นสาระสำคัญในบอกเล่า สื่อสาร ผ่านการจัดแสดง ผ่านเครื่องมือการสื่อสาร สื่อบุคล อาคารสถานที่ ในทุกๆ องศาทั้งด้านวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ประวัติศาสตร์ความเป็นมา บ้านเรือน เครื่องแต่งกาย อาหาร การใช้ชีวิต ความเชื่อประเพณี ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ที่หากนำมาเผยแพร่ควบคู่ไปกับการจัดการทางด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวในปัจจุบัน ก็ย่อมช่วยให้วัฒนธรรมของไทย เป็นที่รู้จัก เข้าใจ และรับเอาความสร้างสรรค์วัฒนธรรมของไทย ที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่การดำรงชีวิตรอบด้าน ทั้งเศรษฐกิจ และสังคม
ประเภทนักท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม Heritage Tourist : นักท่องเที่ยวแหล่งมรดก โบราณคดี อนุสาวรีย์ Arts Tourist : นักท่องเที่ยวศิลปะ Creative Tourist : นักท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ หัตถกรรม Urban Cultural Tourist : นักท่องเที่ยววัฒนธรรมเมือง Rural Cultural Tourist : นักท่องเที่ยววัฒนธรรมชนบท Indigeneous Cultural Tourist : นักท่องเที่ยววัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น Popular Cultural Tourist : นักท่องเที่ยววัฒนธรรมทันสมัย คอนเสิรต์ งานแข่งขันกีฬา
|
สถานที่และกิจกรรมที่สนใจ
ปราสาท พระราชวัง บ้านโบราณ แหล่ง โรงละคร การแสดงคอนเสิร์ต เทศกาล งานประเพณี ถ่ายภาพ นิทรรศการ วาดภาพ การปั้น ทำอาหาร หัตถกรรม แหล่งประวัติศาสตร์ ตลาด แหล่ง การท่องเที่ยวเชิงเกษตร ชุมชน ชาวเขา ทะเลทราย สวนสนุก ห้างสรรพสินค้า การแสดง |
ที่มา : Smith M. K. ,Issues in Cultural Tourism Studies London
ประเด็นการพิจารณาในการสื่อสารทางวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว
- ควรส่งเสริมให้แต่ละจังหวัดได้มีการนำวัฒนธรรม มาเป็นส่วนประกอบในอุตสาหกรรมธุรกิจท่องเที่ยวของไทย
- จัดให้มีการค้นคว้า รวบรวม วิเคราะห์และคัดกรองว่าแต่ละพื้นที่มีวัฒนธรรมใดบ้าง มีลักษณะการนำมาใช้อย่างไร และจะนำมาใช้สื่อสาร หรือดำเนินการอย่างไร
- ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมธุรกิจท่องเที่ยวของไทยในแต่ละท้องถิ่น ชุมชน สามารถนำวัฒนธรรมมาเป็นจุดขายได้
- การสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม เป็นส่วนประกอบเชิงสัญลักษณ์ในรูปแบบของตนเอง
- กำหนดลักษณะ วิธีการสื่อสาร หรือสร้างแบรนด์ของวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น มีกระบวนการและขั้นตอนที่เหมาะสม และการประยุกต์ใช้วัฒนธรรม ให้เอื้อต่อการท่องเที่ยว และประสบความสำเร็จในการสื่อสารทางวัฒนธรรม ได้อย่างเป็นรูปธรรม
การส่งเสริมการท่องเที่ยวในเชิงวัฒนธรรม
การสร้างสรรค์นวัตกรรมการท่องเที่ยว บนพื้นฐานของคุณค่าทางวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่นหรือต้นทุนทางวัฒนธรรม ด้วยการถ่ายทอดเรื่องราวจากประวัติศาสตร์ วิถีความเป็นชุมชน สถาปัตยกรรม หัตถกรรม ความงดงามของฝีมือช่าง ดนตรีพื้นบ้าน ศิลปะ วรรณกรรม และอื่นๆ มาจัดการให้เกิดแรงดึงดูด ที่สอดคล้องกับคุณค่าของชุมชน ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ตรงผ่านการเรียนรู้ผ่านทางการท่องเที่ยว เป็นต้นว่าการได้ใช้ชีวิตร่วมกับชาวบ้านอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นการแสดงหรือเป็นสร้างขึ้นมา เช่น นักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวและมาสัมผัสกับวิถีชีวิตของการเป็นชาวสวน ได้มีโอกาสที่ร่วมทำสวนกับชาวสวนตัวจริงที่ยังคงรักษาชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย หรือการที่นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสมาพักโฮมสเตย์ ในชุมชน พร้อมกับได้เรียนรู้วิธีการประกอบอาหาร ขนมไทย ท้องถิ่น เป็นต้น
ประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมมากมาย เช่น พิพิธภัณฑ์วิถีชีวิต : Life Museum ชุมชน แหล่งเรียนรู้ ที่ควรได้รับการส่งเสริมและผลักดันให้มีแหล่งต้นแบบของแต่ละภูมิภาคอย่างจริงจัง ซึ่งในการท่องเที่ยวรูปแบบนี้ผู้ท่องเที่ยวจะได้เข้าไปเยี่ยมชม พักอาศัยในชุมชน และดำเนินชีวิตเช่นเดียวกับชาวบ้าน ซึ่งจะเป็นการก่อให้เกิดความเข้าใจในวัฒนธรรมที่ต่างกัน ของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่นิยมชมชอบในการท่องเที่ยว ที่ไม่เพียงแต่ให้ความสุขเท่านั้น ยังเป็นการสื่อสารและเผยแพร่เรื่องราวในความเป็นไทย อย่างลึกซึ้งด้วย
การสื่อสารทางวัฒนธรรม … นับเป็นจุดแข็งที่ต้องได้รับการส่งเสริมและเดินหน้าอย่างจริงจัง เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศ
การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม นับเป็นหนึ่งในประเด็นที่เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องนำไปสู่การพัฒนาที่เป็นรูปธรรมของประเทศ เพราะนอกจากจะสร้างการเติบโตให้กับอุตสาหกรรมหลักที่สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศแล้ว ยังเป็นการรักษาความสมดุลระหว่างการ ส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมกับการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ที่ต้องใช้ความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชน และภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องในการจัดการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเชิงวัฒนธรรม ที่จะส่งผลดีไม่เพียงแต่ด้านการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อความเป็นชาติอย่างยั่งยืนด้วย
ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการจัดการสื่อสารและที่ปรึกษายุทธศาสตร์สื่อสารองค์กรชั้นนำ www.drphot.com