วันพุธที่ 22 มีนาคม 2566 ณ ห้องประชุม คณะเภสัชศาสตร์ นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด, นายสกลกรย์ สระกวี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บิทคับ เวิลด์เทค จํากัด และนายพัศพงศ์ ชมเชย ประธานเจ้าหน้าที่สายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท บิทคับ เวิลด์เทค จํากัด เป็นตัวแทนจาก บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป เข้าร่วมงาน “Stay Strong ก้าวอย่างมั่นคง” เนื่องในโอกาสครบรอบ 29 ปี สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา
ในโอกาสนี้ นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ได้ร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ก้าวข้ามความเห็นต่างทางความคิดในมุมธุรกิจกับการศึกษาสู่แนวคิดความร่วมมือทางปัญญา” พร้อมทั้งกล่าวถึงความร่วมมือเชิงวิชาการผ่านการจัดทำหลักสูตรระยะสั้น (Short Course) ระหว่างบิทคับและสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยได้มีการต่อจิ๊กซอว์เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการเริ่มต้นโครงการดังกล่าว ร่วมกับ รศ.ดร.วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดี มหาวิทยาลัยบูรพา, ดร.ธัชพล กาญจนกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก, นายพีรพัฒน์ มั่งคั่ง ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ, นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี หัวหน้ากลุ่มงานภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม, และ นายอดิศักดิ์ เกียรติไกรวัลศิริ ประธานส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นต้นแบบการขยายความร่วมมือและพัฒนาหลักสูตรวิชาการระยะสั้นที่มีความโดดเด่นในระบบการบริหารจัดการที่มีความคล่องตัวและประสิทธิภาพสูง ไปยังเครือข่ายบริการวิชาการกว่า 40 สถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพนักศึกษาอย่างทั่วถึงและยั่งยืนในอนาคต
นอกจากนี้ ตัวแทนจาก บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด และ บริษัท บิทคับ เวิลด์เทค จํากัด ยังร่วมจัดบูธกิจกรรมและมอบของที่ระลึกให้กับผู้เข้าร่วมงานทุกคน
นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด เปิดเผยว่า “บิทคับรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มหาวิทยาลัยบูรพาเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพนักศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุคดิจิทัลดิสรัปชั่น ในปัจจุบันเทคโนโลยีต่าง ๆ มีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด อาทิ AI และ Chat GPT นอกจากนี้ ยังมีการการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในบริบทต่าง ๆ มากขึ้น เช่น การนำเทคโนโลยีบล็อคเชนเข้ามามีบทบาทในการสื่อสาร, การนำเทคโนโลยีบล็อคเชนเข้ามาพัฒนาโมเดลธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งในอนาคต หลังปี 2024 อาเซียนจะเข้าสู่ยุคทองคำ ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มทักษะและองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้ถูกต้อง ดังนั้น การร่วมมือกันกับทางมหาวิทยาลัยบูรพาในครั้งนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการผลักดันวงการการศึกษาและศักยภาพของนักศึกษาไทยให้มีความพร้อมที่จะก้าวไปพร้อมกับเทคโนโลยีและเทรนด์โลกใหม่ ๆ ทั้งนี้ สิ่งที่บิทคับและมหาวิทยาลัยบูรพาได้ทำร่วมกัน จะเป็นโครงการต้นแบบ เพื่อเตรียมความพร้อมในการขยายความร่วมมือและพัฒนาหลักสูตรวิชาการระยะสั้นที่มีความโดดเด่นในระบบการบริหารจัดการที่มีความคล่องตัวและประสิทธิภาพสูง ไปยังเครือข่ายบริการวิชาการกว่า 40 สถาบันการศึกษา สถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพนักศึกษาอย่างทั่วถึงและยั่งยืนในอนาคต”