สถานการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดอย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครนได้ผลักดันให้ราคาพลังงานและอาหารในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น จนก่อให้เกิดวิกฤตเงินเฟ้อสูง ตามมาด้วยวิกฤตเศรษฐกิจในหลายประเทศ และการเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง จนส่งผลให้ล่าสุด IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกเหลือเพียง 3.2% จากที่คาดการณ์เมื่อตอนต้นปี 2565 ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวถึง 4.9% สูงกว่าอัตราขยายตัวของเศรษฐกิจโลกย้อนหลัง 10 ปีที่เฉลี่ยอยู่ราว 3%
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ระบุว่าสถานการณ์ที่พลิกผันเปลี่ยนจากพยัคฆ์ทะยานเหลือเพียงพยัคฆ์หมอบเช่นนี้ ผู้ส่งออกไทยต้องเผชิญความท้าทายจากหลายปัจจัยที่กระทบต่อการดำเนินธุรกิจในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งขอสรุปเป็น “4C” ดังนี้
- Cost : ผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนการกู้ยืมเงินที่สูงขึ้น โดยมีแรงกดดันจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อภายในสิ้นปีนี้ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเข้าสู่ช่วงขาขึ้น และต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้น ทั้งจากค่าระวางเรือที่ยังสูงกว่าช่วง COVID-19 ถึงกว่า 2-3 เท่า และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า แม้ปัจจุบันราคาวัตถุดิบบางรายการเริ่มส่งสัญญาณปรับลดลงบ้าง แต่ยังอยู่ในระดับสูง
- Consumer : ผู้บริโภคในตลาดส่งออกสำคัญมีกำลังซื้อลดลง สะท้อนได้จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ (มิชิแกน) และจีน ณ เดือนพฤษภาคม 2565 ที่ลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของยุโรปลดลงต่ำสุดในรอบ 2 ปี โดยได้รับแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อสูง ประกอบกับเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณชะลอตัวลงชัดเจน ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคมีรายได้ลดลง หรือระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น
- Credit Risk : คู่ค้ามีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะชำระเงินล่าช้าหรือปฏิเสธการชำระค่าสินค้า/รับสินค้าเนื่องจากภาคธุรกิจในหลายประเทศได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่เศรษฐกิจในบางประเทศถูกท้าทายอย่างหนัก ทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างที่อ่อนแออยู่เดิม ประกอบกับถูกซ้ำเติมจากปัญหาขาดแคลนเงินตราต่างประเทศและการอ่อนค่าของเงิน ทำให้หลายประเทศอยู่ในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ทั้งนี้ หากพิจารณาดัชนี Global Insolvency Index ซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนภาวะการล้มละลายของภาคธุรกิจทั่วโลก พบว่า ดัชนีดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 10% ในปี 2565 และเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 14% ในปี 2566 สะท้อนความเปราะบางของภาคธุรกิจทั่วโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
- Climate Change : ผู้ส่งออกมีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงจากมาตรฐานและมาตรการทางการค้าใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงกระแสจากผู้บริโภค สำหรับ C สุดท้ายนี้
มีความสำคัญมากต่อการดำเนินธุรกิจทั้งในปัจจุบันและในระยะถัดไป แม้สถานการณ์ 3C ในระยะสั้นข้างต้นจะคลี่คลายแล้วก็ตาม เนื่องจากสหรัฐฯ EU และจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย มีสัดส่วนรวมกันถึงเกือบ 40% ของมูลค่าส่งออกโดยรวม เป็นประเทศที่ใช้มาตรการทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมากที่สุด ขณะเดียวกันปัจจุบันมีผู้บริโภคจำนวนมากเลือกที่จะยืนหยัดเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญต่อการบริโภคของโลกอย่าง Gen Z ซึ่งผลสำรวจของ GlobalWebIndex (GWI) ระบุว่า ราว 60% ของ Gen Z ยินดีจ่ายแพงขึ้นสำหรับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสังคม
ท่ามกลาง Challenge มากมาย EXIM BANK ภายใต้บทบาทธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย แนะนำให้ผู้ประกอบการรับมือด้วยกลยุทธ์ลดต้นทุนแบบยั่งยืนหรือการลดต้นทุนโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมควบคู่กันไปด้วย และบริหารความเสี่ยงของทุกกรณีให้อยู่ในระดับต่ำที่สุด อาทิ ทำประกันการส่งออก และ Forward ค่าเงิน เพื่อให้ธุรกิจผ่านพ้นความยากลำบากได้ในระยะสั้นและเติบโตต่อไปได้ในระยะยาว เพราะการพลาดเพียงครั้งเดียวอาจกระทบอย่างมากต่อผู้ส่งออก โดยเฉพาะ SMEs ไทย
บทความโดย
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร
กรรมการผู้จัดการ
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)