“ผู้หญิง” มีพลังมากมายซ่อนไว้เกินกว่าใครจะคาดคิด แค่เพียงรอเวลาถูกปลุก ให้เธอลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง ซึ่งเรื่องราวของ “ปิ๋ม” หรือ ฟ้าเสรี ประพันธา สาวชาวนาจากอุบลราชธานี น่าจะช่วยเพิ่มพลังและตอกย้ำความภาคภูมิใจในตัวเองของผู้หญิงธรรมดาอีกหลาย ๆ คน ด้วยแบบอย่างของผู้ไม่ย่อท้อต่อชีวิตที่พลิกผัน มุ่งมั่นเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง จนวันนี้ก้าวขึ้นเป็นประธานบริษัท ไร่นาฟ้าเอ็นดู จำกัด ทั้งที่มีวุฒิการศึกษาแค่ ม. 3 ซึ่งไม่เพียงพึ่งพาตัวเองได้ แต่เป็นที่พึ่งของคนในชุมชนช่วยสร้างอาชีพอย่างยั่งยืน ที่สำคัญยังมีครอบครัวที่อบอุ่นด้วยหัวใจ เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสังคมอีกด้วย
“ไร่นาฟ้าเอ็นดู” คือบริษัทเล็ก ๆ ตั้งอยู่กลางทุ่งนา มีสินค้าหลักล้านแปรรูปจากพืชพันธุ์ ที่ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท มีความตั้งใจอยากให้บริษัทเติบโตไปพร้อมกับชุมชน โดย “ปิ๋ม” เกษตรกรหญิงเมืองแห่งบัวบาน ย้ำว่า จุดสำคัญคือ การที่จะสามารถช่วยเหลือชาวบ้านและเป็นที่พึ่งของชุมชนได้ด้วย ดังนั้น ไร่นาที่ถูกเปลี่ยนมาเป็นบริษัทเล็ก ๆ แห่งนี้ จึงมีพนักงานเป็นชาวบ้าน ชาวนา แม่บ้าน รวมถึงผู้สูงอายุ แบ่งเป็นงานประจำ และงานตามฤดูกาล เช่น ขุดเหง้ากระเจียว, คัดเมล็ดผักหวานป่า, นำสินค้าไปโพสต์ขายบนออนไลน์, เก็บกระบก และคัดเมล็ดกระบก เป็นต้น
ชาวนาภาคอีสานทำนาแค่รอบเดียว นั่นหมายถึงช่วงเวลาทำมาหากินจึงมีแค่ช่วงเดียว ทำให้คนหนุ่มสาวมักออกไปทำงานหาเงินในต่างถิ่น ผู้เฒ่าผู้แก่ถูกทิ้งให้เลี้ยงหลานอยู่กับบ้านกลายเป็นภาพชินตา “ปิ๋ม” เป็นหนึ่งคนที่เคยหอบฝันเข้ามาทำงานในเมืองหลวง เพราะมองไม่เห็นความหวังที่บ้านเกิด แต่เมื่อเจ้าของห้องเช่าบอกขายร้านที่ใช้ทำมาหากิน ให้เวลาต้องย้ายออกไปภายในสิ้นเดือน ซึ่งบังเอิญในช่วงนั้นเธอกำลังตั้งท้อง จึงคิดหนักว่าจะย้ายไปอยู่ที่ไหน สุดท้ายตัดสินใจเลือกกลับมาบ้านเกิดที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีเงินติดกระเป๋ามาเพียง 8,000 บาท
เมื่อปักหมุดแล้วว่าจะอยู่ตรงนี้ที่บ้านเกิด “ปิ๋ม” จึงบอกตัวเองว่า ต้องทำให้ดีที่สุด โดยเริ่มจากการเป็นชาวนา แต่ปรากฏว่าเจอกับวิกฤตหลายอย่าง ทั้งน้ำแล้ง และน้ำหลาก หรือบางปีก็น้ำท่วม ดังนั้น ที่หวังไว้ว่าจะปลดหนี้ในปีนั้นกลับกลายเป็นหนี้ก้อนโตเพิ่มขึ้นอีก แต่ด้วยความเชื่อว่า ชีวิตเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ เมื่อเจออุปสรรคล้มได้แต่อย่านาน ต้องรีบลุกขึ้นมาแก้ปัญหา และประโยคหนึ่งที่ท่องไว้ในใจเสมอคือ “ต้องเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส” ทำให้เริ่มคิดและเข้าใจว่าจะต้องมีอะไรสักอย่างที่มาเปลี่ยนวิถีชีวิตได้ เปลี่ยนโดยที่ไม่ต้องโยกย้ายไปไหน สุดท้ายได้เข้าอบรมโครงการพลังชุมชนของเอสซีจี เรียนรู้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน สอนให้เปลี่ยนชีวิตด้วยความรู้ สอนให้ทบทวนตัวเองว่าสิ่งที่มีอยู่มีอะไรบ้าง แล้วก็หาสิ่งที่มีคุณค่ารอบกายมาสร้างเป็นมูลค่า
“ทำให้เราเข้าใจว่า ไม่ต้องรอแค่ข้าวในนา จึงเริ่มทำน้ำพริกขาย ขายเหง้ากระเจียว ขายเมล็ดผักหวานป่า ขายเมล็ดพันธุ์ไม้ป่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้ สามารถหยิบจับขึ้นมาขายในโลกโซเชียลได้เลย หลังจากนั้นกิจการก็เริ่มขยายใหญ่ขึ้น มีโรงงานผลิตอาหาร มีห้องแสดงสินค้า มีออฟฟิศ มีแหล่งไม้ผล มีนา มีหนองน้ำ ซึ่งแต่ละส่วนของพื้นที่สามารถเป็นแหล่งรายได้ทั้งหมดเลย จากชาวนาที่ไม่เคยเห็นเงินล้านเราก็ได้เห็นภายในช่วงเวลาแค่ปีเดียว เมื่อมาถึงจุดหนึ่งเราก็ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย จึงคิดว่าเปิดบริษัทเลยดีกว่า พอเปิดบริษัทแล้ว เราให้งาน ให้อาชีพชาวบ้าน ส่วนหนึ่งเป็นงานประจำ และอีกส่วนเป็นงานตามฤดูกาล เมื่อเรารอดแล้ว หมดหนี้หมดสินแล้ว ก็มีความรู้สึกว่าชาวบ้านน่าจะรอดไปกับเราด้วย ไม่อยากให้ชาวบ้านทิ้งลูก ทิ้งคนแก่ไปทำงานที่กรุงเทพฯ บ้านเราก็มีอาชีพ มีงานทำเหมือนกัน ซึ่งเชื่อว่าสิ่งที่ทำให้เกิดความสำเร็จได้ในวันนี้คือ การที่เราทำตามขั้นตอนควบคู่กับการเริ่มต้นโจทย์ใหม่อยู่เสมอ พร้อมที่จะเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ไม่สิ้นสุด”
และนี่คือบทพิสูจน์ของพลังที่ซ่อนไว้อยู่ในตัวผู้หญิงธรรมดาชาวนาจากอุบลราชธานี ที่แม้ต้องเจอกับความล้มเหลวและอุปสรรคซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ด้วยความมุ่งมั่น เรียนรู้ พร้อมพัฒนาตัวเอง ก็สามารถพลิกชีวิตตัวเองและพาคนในชุมชนให้ “รอดจน” มีกิน มีใช้ พึ่งพาตนเองได้อย่างน่าภาคภูมิใจ กับการเปลี่ยนไร่นาเป็นบริษัทที่มีชาวนาเป็นพนักงาน ขายสินค้าหลักล้านแปรรูปจาพืชพันธุ์รอบตัว เสียภาษีตามกฎหมาย ตอกย้ำว่า “ฉันก็สามารถเป็นประธานบริษัทได้”