ความชอบและการมองเห็นโอกาสทางการตลาด”มักเป็นจุดเริ่มต้นอย่างดีของการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ…เช่นเดียวกับการได้มองเห็นโอกาสทางการตลาดของคนต่างจังหวัดที่นิยมใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะในการเดินทางและการได้วิเคราะห์กลไกตลาดจากสถิตข้อมูลก็พบว่าอัตราการเติบโตของตลาดรถจักรยานยนต์สูงขึ้นทุกปีโดยปีที่ผ่านมามีจำนวนผู้ซื้อรถจักรยานยนต์ถึง 2,004,000 คัน
บ่งชี้ให้เห็นว่าคนไทยทั้งประเทศหันมาขับขี่รถจักรยานยนต์มากขึ้นเนื่องจากสภาพการจราจรแออัด ดังนั้นเมื่อ Demand ในท้องตลาดมีมากจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งของการเกิดธุรกิจแฟรนไชส์จำหน่ายรถจักรยานยนต์มือสองรายแรกของเมืองไทยขึ้นมาภายใต้แบรนด์ “ JPW” หรือ JP MOTORWORKS รวมไปถึงธุรกิจ i Wish ร้านจำหน่ายอุปกรณ์ไอทีมือสอง (Second Hand) ยี่ห้อ Apple, Samsung และ Accessories ที่เป็น Gadget ต่างๆ เพื่อรองรับคนระดับกลางถึงล่างที่ต้องการเข้าถึงอุปกรณ์ไอทีแต่มีทุนทรัพย์ไม่เพียงพอ เชื่อหรือไม่! ทั้ง 2 ธุรกิจนี้เกิดขึ้นมาด้วยแนวความคิดของผู้บริหารงานหนุ่มวัยเพียง 30 ปี คุณจักรพันธ์ ประจวบเหมาะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เจพี กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และ ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท svoa จำกัด (มหาชน) จนได้รับฉายาว่าเป็น พ่อมดการเงิน และ Young Talent ขวัญใจนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จจากการบริหารงานธุรกิจดังกล่าวจนมีรายได้ถึง 100 ล้านบาท
จุดเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์
มาวันนี้…เขาจะบอกเล่ามุมมองที่มีต่อการบริหารธุรกิจพร้อมกับให้คำแนะนำนักธุรกิจรุ่นใหม่ว่าจะต้องเป็น The Magic of Thinking Big คือ คิดใหญ่แต่ไม่คิดเล็ก เป็นหลักการง่ายๆ ของการทำธุรกิจที่คิดอะไรก็ได้ ให้มีความแตกต่างจากคู่แข่งในท้องตลาด เพราะยิ่งมีความแตกต่างมากเท่าไรยิ่งทวีความได้เปรียบมากเท่านั้น แต่ต้องเป็นความแตกต่างที่สามารถเข้าถึงผู้ซื้อได้อย่างโดนใจด้วย “อย่างบริษัทเจพี กรุ๊ป ฯ ที่ผมรับผิดชอบ มีการแบ่งงานบริหารออกเป็น 2 ธุรกิจคือ1.แฟรนไชส์จำหน่ายรถจักรยานยนต์มือสองรายแรกของเมืองไทยภายใต้แบรนด์ “JPW” ซึ่งเป็นแฟรนไชส์รูปแบบใหม่ในชื่อ “150,000 ใครก็เป็นเถ้าแก่ได้” แต่เดิมการทำธุรกิจนี้ “ผมตั้งใจเปิดเป็นแค่ศูนย์จำหน่ายรถจักรยานยนต์มือสองเล็กๆ ที่จังหวัดประจวบคิรีขันธ์ เท่านั้น เนื่องจากผิดหวังที่ไม่สามารถติดต่อขอเป็นตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบรนด์ฮอนด้า ยามาฮ่า ได้ เพราะแต่ละแบรนด์ จะให้ตัวแทนจำหน่ายจังหวัดละ 1 แห่งเท่านั้น ปรากฏว่าศูนย์ฯ ของผมได้รับความสนใจอย่างมากมีผู้ติดต่อเข้ามาอยากร่วมทำธุรกิจลักษณะนี้ ผมจึงไม่รอช้านำความคิดนี้มาต่อยอด ปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นธุรกิจ แฟรนไชส์จำหน่ายรถจักรยานยนต์มือสอง ทันที ” เพราะช่วงหลังๆ ยุค 4-5 ปีที่ ผ่านมา คนไทยเริ่มมีวิถีชีวิตและแนวความคิดที่อยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจมากขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะประสบความสำเร็จ บางรายติดปัญหาเรื่องเงินลงทุนที่ต้องใช้เม็ดเงินก้อนใหญ่มาก ตัวอย่าง การจะเป็นตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบรนด์ดังๆ ต้องใช้เงินลงทุนถึง 20-30 ล้านบาท ต่อการเปิดศูนย์จำหน่าย 1แห่งและต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ถูกกำหนดขึ้นมาให้ได้ว่าต่อเดือนต้องขายจำนวนกี่คันถึงจะ ได้รับการสนับสนุนให้สามารถขายรถรุ่นใหม่ๆ ต่อไปได้ ถือว่าเป็นจุดอ่อนที่ไม่ใช่ทุกศูนย์จะสามารถขายได้ตามเป้าเนื่องจากเศรษฐกิจไทยไม่ได้อู่ฟู่เหมือนแต่ก่อนการจับจ่ายใช้สอยของคนไทยระมัดระวังมากขึ้น จึงเป็นจุดได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ที่
ธุรกิจแฟรนไชส์ JPW ได้ไปเลือกยืนอยู่บนเวทีด้านของการทำธุรกิจจำหน่ายรถจักรยานยนต์มือสองที่เป็น Blue Ocean Marketing ที่ยังปราศจากคู่แข่งขันโดยตรง ไม่ใช่การไปเลือกยืนประชันหน้าอยู่บนเวทีเดียวกับแบรนด์ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นที่ยึดครองตลาดธุรกิจจำหน่ายรถจักรยานยนต์มือหนึ่ง…แทนที่จะล้มยักษ์กลับเป็นฝ่ายถูกยักษ์ล้มใส่มากกว่า“แม้ปัจจุบันจะมีธุรกิจขายรถจักรยานยนต์มือสองอยู่บ้างแต่ก็เป็นการขายอยู่ในร้านค้าทั่วไป สินค้าไม่ค่อยมีคุณภาพต่างจากของผมที่เปิดเป็นแฟรนไชส์ มีแบรนด์ จักรยานยนต์ทุกคันผ่านการซ่อมบำรุง ตรวจสอบเช็คสภาพเครื่องยนต์พร้อมใช้ 90 % ก่อนส่งมอบให้กับลูกค้า ทำให้ลูกค้าเหมือนได้รับรถจักรยานยนต์มือ 1 ด้วยราคาที่ถูกกว่า 30 % ส่งผลให้ธุรกิจนี้ได้รับการตอบรับจากลูกค้าและผู้ประกอบการที่ต้องการซื้อแฟรนไชส์ธุรกิจ JPW ไปลงทุน” นับเป็น Business Model ที่ประสบความสำเร็จค่อนข้างสูงวัดได้จากยอดสาขาของแฟรนไชส์จำหน่ายรถจักรยานยนต์มือสอง
JPW ขณะนี้มีอยู่ 100 แห่งทั่วประเทศ คิดเป็นยอดขายบริษัทเติบโตต่อปี 30-40 % โดยปีที่ผ่านมาบริษัทมียอดขาย 80 ล้านบาท ดังนั้นกลยุทธ์ต่อไปของแฟรนไชส์ธุรกิจ JPW ในปี 2558 คือ การขยายสาขาไปยังพื้นที่เขตชายแดนต่างจังหวัด จำนวน 200-300 แห่ง เพื่อให้กลายเป็นร้านสะดวก ซื้อรถจักรยานยนต์รองรับการขยายตัวของธุรกิจหลังประตูการค้าเสรี AEC เปิดออกที่จะมีการไหลเวียนของเงินทุนและจำนวนประชากรจาก 67 ล้านคน เป็น 300 ล้านคน นับเป็น Demand จำนวนมหาศาลที่กำลังจะ เกิดขึ้นมาอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
i Wish ธุรกิจที่ต้องคิดต่างถึงจะชนะ
นอกจากนี้ในส่วนของธุรกิจที่ 2 คือ i Wish ร้านจำหน่ายอุปกรณ์ไอทีมือสอง (Second Hand) ยี่ห้อ Apple, Samsung และ Accessories ที่เป็น Gadget ต่างๆ ก็เป็นอีก The Magic of Thinking Big ที่
คุณจักรพันธ์ ต้องการจะฉายภาพให้เห็นว่า ผลิตภัณฑ์ไอที แบรนด์ยี่ห้อ Apple, Samsung ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน, ไอพอต, แล็ปท็อป ราคาค่อนข้างสูง คนที่มีรายได้ระดับปานกลางและล่าง ก็อยากเข้าถึงและใกล้ชิดกับแบรนด์เหล่านี้แต่ด้วยทุนทรัพย์ที่มีจำกัด จึงเกิดไอเดียทำธุรกิจ i Wish ขึ้นมา เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ด้วย Positioning ของแบรนด์ ที่จะเปิดเป็น Shop ระดับพรีเมียม บนศูนย์การค้า เน้นขายอุปกรณ์ไอทีมือสอง (Second Hand) ในราคาที่ต่ำกว่ามือหนึ่ง 30% ซึ่งเป็นการยืนอยู่ตรงกลางระหว่างตลาดของสินค้าไอทีมือหนึ่งในShop บนศูนย์การค้าที่มียักษ์ใหญ่อย่าง ดีแทค, เอไอเอส, เจมาร์ท ครองตลาดอยู่ กับร้านจำหน่ายสินค้าไอทีทั่วๆไป ที่วางขายกันเป็นตู้ๆ เรียงๆ กันนับเป็นแนวคิดเดียวกับการทำแฟรนไชส์จำหน่ายรถจักรยานยนต์มือสอง JPW ที่จะต้องหาตลาดที่เป็น Blue Ocean Marketing ที่ไร้คู่แข่งไม่ใช่ Red Ocean Marketing ไม่เช่นนั้นธุรกิจรายเล็กจะกลายเป็นเหยื่ออันโอชะของยักษ์ใหญ่ที่มีทั้งทุนทรัพย์และกำลังในการทุ่มเม็ดเงินทำสื่อประชาสัมพันธ์โฆษณา อัดโปรโมชั่นลด แลก แจก แถม เพื่อยั่วยวนใจให้ผู้บริโภคได้หันมาเลือกซื้อบริการมากกว่า “ และจากข้อนี้ก็พิสูจน์ให้เห็นว่าธุรกิจของผม i Wish ปัจจุบันมีอัตราการเติบโตจากเดิมมีจำนวนสาขาอยู่ 2 แห่ง คือ ศูนย์การค้าซีคอน บางแค และ เซ็นจูรี่ มอลล์ ก็ขยายไปอยู่ในศูนย์การค้าเดอะมอลล์ ทุกสาขา และ คอมมูนิตี้ มอลล์ ใหม่ๆ ที่กำลังผุดขึ้นมาในปี 2558 นี้อีกหลายแห่ง”
ลั่นกลองรบ…รับมือAEC
ขณะเดียวกันสิ่งที่จะเป็นอีกหนึ่งปรากฎการณ์ของ Young Talent ขวัญใจนักธุรกิจรุ่นใหม่คนนี้คือ การแต่งตั้งที่ปรึกษาการเงินเพื่อนำ บริษัทเจพี กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ประกอบด้วย ธุรกิจแฟรนไชส์จำหน่ายรถจักรยานยนต์มือสอง JPW และ ธุรกิจ i Wish ร้านจำหน่ายอุปกรณ์ไอทีมือสอง (Second Hand) เข้าไปจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ mai: Marketing for Alternative Investment โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมทุนเสริมความแข็งแกร่งให้กับองค์กร เพราะภายหลังที่ประตูการค้า AEC เปิดออกกลายเป็นประชาคมอาเซียน จะมีบริษัทคู่แข่งชาติอื่นๆ เช่น เวียดนาม สิงค์โปร์ มาเลเซีย ฯลฯ ที่อยู่ในธุรกิจด้านไอที จะเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดเยอะขึ้น การแข่งขันก็จะทวีความดุเดือดกว่าเดิม ลำพังแข่งกันเองภายในประเทศที่ผ่านมาก็ย่ำแย่สาหัสอยู่แล้วแต่ต่อไปนี้ต้องแข่งขันกับคู่ค้าจากชาติอาเซียนอื่นๆ อีก“ดังนั้นผมจึงต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องของเม็ดเงินลงทุนที่จะต้องใช้ในการขยายสาขาธุรกิจ i Wish ค่อนข้างสูง ต่างจากแฟรนไชส์จำหน่ายรถจักรยานยนต์มือสอง JPW การขยายสาขาเกิดจากการลงทุนของผู้สนใจที่อยากจะซื้อแฟรนไชส์ดังกล่าวไปประกอบอาชีพหารายได้ ขณะที่ i Wishเป็นธุรกิจที่ผมต้องลงทุนเอง และ ปีนี้ก็วางแผนที่จะเปิดทุกสาขาภายในศูนย์การค้าเดอะมอลล์ รวมถึงคอมมูนิตี้มอลล์ใหม่ๆ ที่ผุดขึ้นมาด้วย เนื่องจากการขยายสาขาออกไปเยอะเท่าไรยิ่งช่วยลดต้นทุนสินค้าให้ถูกลง ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะใช้สู้รบกับคู่ค้ารายอื่นๆ โดยที่ไม่เสียเปรียบในเรื่องของราคากรณีที่เจอคู่ค้ารายใหญ่มีทุนทรัพย์หนากว่ากระโดดลงมาเล่นสงคราม (Price War) ดัมพ์ราคาแข่งขันกันเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดที่มาจากเม็ดเงินในกระเป๋าของลูกค้าที่จะยอมควักออกจากซื้อสินค้าชิ้นหนึ่ง
Time to armed yourself for business Ready to tackle MAI to increase capital
ภาพ: Facebook คุณจักรพันธ์ ประจวบเหมาะ