พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและคณะคสช ได้ทำการรัฐประหารจากรัฐบาลประชาธิปไตยเต็มใบ ที่มีคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 หรือประมาณ 6 ปีที่แล้ว ซึ่งต่อมาได้มีการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ 20 มีที่มาจากการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558 เพื่อจัดทำร่างฯ ฉบับใหม่ ประกอบด้วยสมาชิก 21 คน มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน เมื่อร่างเสร็จแล้ว มีการลงประชามติในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559 ซึ่งผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 61.35 เห็นชอบ ซึ่งในช่วงนั้นประชาชนส่วนใหญ่อัดอั้นตันใจ อยากจะให้มีการเลือกตั้งกันเร็วๆ จึงลงประชามติเพื่อรับร่างรัฐธรรมนูญไว้ก่อน เพราะว่าในช่วงนั้น มีแนวโน้มว่าถ้าประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็จะเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นเองหรือจะนำรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งในอดีต ยกขึ้นมาแก้ไขบางส่วน แล้วประกาศใช้เลย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560 หลังมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติตามพระบรมราชวินิจฉัย
หลังจากที่พลเอกประยุทธ์เป็นผู้นำรัฐบาลมาต่อเนื่องยาวนาน 6 ปีกว่า มาช่วงหลังๆนี้ ได้เริ่มเกิดมีกระแสไม่เอาเป็นพลเอกประยุทธ์ จากประชาชนที่เรียกร้องอยากได้ประชาธิปไตยเต็มใบเป็นจำนวนมาก ผมในฐานะที่เป็นนักเขียนเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจและธุรกิจ จึงพยายามค้นคว้าหาสาเหตุว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคมไทย ทำไมมีประชาชนกลุ่มใหญ่ออกมาต่อต้านผู้นำรัฐบาลมากมายขนาดนี้
ผมขอเปรียบเทียบเศรษฐกิจช่วงสมัยตั้งแต่นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร จนถึงสมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยขอเลือกเฉพาะนายกรัฐมนตรีที่มีการประท้วงใหญ่ หรือเกิดรัฐประหารมาเปรียบเทียบกัน ให้ดูทางด้านตัวเลขเศรษฐกิจในแต่ละสมัย
1.นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ช่วงระหว่างปี 2544-2549(2001-2006)
2.นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ช่วงระหว่างปี 2551-2554(2008-2011)
3.นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ช่วงระหว่างปี 2554-2557(2011-2014)
4.นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วงระหว่างปี 2557-ปัจจุบัน(2014-Now)
สาเหตุข้อที่ 1 จากกราฟในภาพที่ 1 จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร อัตราคนยากจนลดลงเรื่อยๆ และแนวโน้มนี้ยังมีต่อเนื่องจนไปถึงสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่พอเราได้รัฐบาลที่มีผู้นำชื่อพลเอกประยุทธ์ หลังจากที่ท่านบริหารประเทศมาปีเศษๆ ปรากฏว่าอัตราของคนไทยที่เข้าข่ายว่ายากจน เพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากปี 2015 ที่อยู่ที่ 3.5% ไต่ระดับไปที่ 8.6% ในปี 2018 และเชื่อว่าปี 2019 และ 2020 ตัวเลขดังกล่าวน่าจะเกิน 10% ขึ้นไปแล้ว ที่ยิ่งน่าเป็นห่วงว่า ในท่ามกลางสถานการณ์ระบาดของไวรัส covid-19 ตัวเลขคนยากจนในประเทศไทยอาจจะพุ่งขึ้นไปเกิน 15% ในปีหน้า ซึ่งสวนทางกับภาวะความยากจนของคนเวียดนามในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มลดลงมาอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่เคยอยู่มากถึง 90% เมื่อปี 1998 ลดลงมาเหลืออยู่เพียง 23.6% ในปี 2018 ตามภาพที่ 3
พอจะสรุปได้ว่า ประเทศไทยในช่วงที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเต็มใบ แนวโน้มจำนวนคนยากจนมีจำนวนลดลง ในขณะที่ช่วงสมัยที่ปกครองโดยรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารหรือระบอบประชาธิปไตยไม่เต็มใบ กลับจะมีแนวโน้มจำนวนคนยากจนมากขึ้น ขอไม่นับช่วงที่มีการทำรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองที่มีพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ ในวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งต่อมาก็ได้พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 บริหารประเทศจนถึงวันที่ 29 มกราคม 2551 เพราะว่าเป็นช่วงเวลาเพียงสั้นๆ จึงไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราส่วนคนยากจนในประเทศไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ
สาเหตุข้อที่ 2 ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากสาเหตุข้อที่ 1 เมื่อคนไทยจำนวนมากขึ้นที่มีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย จึงทำให้ต้องมีการกู้หนี้ยืมสินเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งดูได้จากภาพที่ 4 ตัวเลขสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อรายได้ครัวเรือน โดยเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ปี 2557 (ซึ่งเป็นปีที่พลเอกประยุทธ์และคณะคสช ทำการรัฐประหาร) ที่ 138% พุ่งขึ้นไปถึงเกือบ 150% ในไตรมาส 3 ปี 2562 ซึ่งคาดว่าจนถึงสิ้นปี 2563 โอกาสที่จะเห็นตัวเลขวิ่งไปถึง 160% มีความเป็นไปได้สูง เนื่องจากปีนี้มีการระบาดของไวรัส มีการล็อกดาวน์ประเทศอยู่หลายเดือน ทำให้การจับจ่ายใช้สอยของคนไทยลดลง ทำให้รายได้ครัวเรือนลดลงเป็นอย่างมาก และจากภาพที่ 5 จะเห็นได้ว่ารายได้ครัวเรือนไทยเริ่มลดลงเป็นครั้งแรกนับแต่ปี 2015 ซึ่งเป็นปีที่ 2 ที่บริหารแผ่นดินโดยพลเอกประยุทธ์ ทั้งๆที่ในอดีตรายได้ครัวเรือนไทยโตขึ้นมาตลอด สวนทางกับ GDP ของประเทศไทยที่ยังมีการโตต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะโตในอัตราที่ต่ำลงก็ตาม แสดงว่ารายได้ของประเทศไปเพิ่มในส่วนของบริษัทขนาดใหญ่มากกว่าธุรกิจ SME ขนาดเล็กและประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
ติดตามตอนที่ 2 ได้ในฉบับหน้านะครับ
Twitter : http://twitter.com/value_talk
Instagram : Gid_KitichaiBlog
website : https://kitichai1.blogspot.com
You Tube : http://www.youtube.com/c/KitichaiTaechangamlert