เนื่องด้วยวันที่ 6 มีนาคมของทุกปี เป็นวัน “ต้อหินโลก” เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงอันตรายของดวงตาจากโรคต้อหิน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัญหาดวงตาที่อาจส่งผลร้ายแรงถึงขั้นตาบอดได้ และสิ่งที่หลายคนอาจยังไม่รู้ก็คือโรคต้อหินนั้นไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า และไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด หนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ไม่ควรละเลยคือ ความดันตาสูงผิดปกติ ที่อาจบ่งบอกว่าเป็นต้อหินได้เช่นกัน การใส่ใจรู้เท่าทันโรคต้อหินเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อจะได้รับมือได้ทันท่วงที
พญ.เกศรินท์ เกียรติเสวี จักษุแพทย์ผู้ชำนาญโรคต้อหิน โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ต้อหินคือโรคความเสื่อมขั้วประสาทตาที่ทำให้สูญเสียการมองเห็น แบ่งออกเป็นต้อหินปฐมภูมิ (Primary Glaucoma) ชนิดมุมเปิด (Primary Open-Angle Glaucoma) ชนิดมุมปิด (Primary Angle – Closure Glaucoma) ต้อหินทุติยภูมิ (Secondary Glaucoma) และต้อหินแต่กำเนิด (Congenital Glaucoma) ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ 1. อายุ 40 ปีขึ้นไป ปัจจุบันโรคต้อหินไม่ได้เกิดกับผู้สูงวัยเท่านั้น แต่สามารถเกิดในวัย 40+ ได้ คนที่อายุมากมีความเสี่ยงมากกว่าคนอายุน้อย 2.ความดันตาสูงมากกว่า 21 มม.ปรอท 3.มีประวัติในครอบครัวเป็นต้อหิน โดยเฉพาะพี่น้อง 4.สายตาสั้นมากหรือสายตายาวมาก ผู้ที่สายตาสั้น 100 – 300 เพิ่มความเสี่ยงต้อหินมากกว่าคนปกติ 2 – 3 เท่า 5.ใช้ยาสเตียรอยด์หรือยารักษาข้อเสื่อมบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน 6.โรคประจำตัว ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยต้อหินเฉียบพลันส่วนใหญ่มักเป็นข้างเดียว อาจจะมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน ซึ่งอาการที่บ่งบอกว่าความดันตาสูงและเสี่ยงเป็นต้อหิน ได้แก่ ปวดตา ตาแดง ตามัว น้ำตาไหล เห็นรุ้งรอบดวงไฟ เป็นต้น
ความดันตาสูงเสี่ยงต้อหินได้อย่างไร เนื่องจากความดันตา มีความแตกต่างกันไประหว่างบุคคล เวลาที่วัด เครื่องมือที่วัด ความดันตาสูง เป็นภาวะที่ความดันลูกตามีค่ามากกว่า 21 มม.ปรอท ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่โรคต้อหิน หากปล่อยไว้จะส่งผลให้ประสาทตาถูกทำลาย การมองเห็นมัวลงเรื่อยๆ จนถึงขั้นตาบอดได้ แต่การที่ความดันตาสูงไม่ได้หมายความว่าจะเป็นโรคต้อหินทุกคน ฉะนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องเข้ารับการตรวจคัดกรองโดยจักษุแพทย์ที่มีความชำนาญ นอกจากนี้การทำกิจกรรมบางประเภทมีส่วนที่ทำให้ความดันตาสูงขึ้น ได้แก่ ดำน้ำ ยกน้ำหนัก เป่าเครื่องดนตรี เป็นต้น ควรระมัดระวังและสังเกตตนเอง หากมีความผิดปกติเกิดขึ้น
วิธีการลดความดันตาเพื่อรักษาต้อหินต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของจักษุแพทย์ที่มีความชำนาญเท่านั้นเพื่อจะได้รับการรักษาที่เหมาะสม โดยจะพิจารณาจากชนิด อาการ และความรุนแรงของผู้ป่วย ได้แก่ 1.การใช้ยาหยอดตา 2.การใช้ยารับประทาน 3.การใช้ยาฉีดเข้าเส้นเลือด 4.การใช้เลเซอร์ และ 5.การผ่าตัด
ฉะนั้น ผู้ที่เป็นต้อหินควรพบจักษุแพทย์ตามนัดหมายอย่างสม่ำเสมอ แม้ต้อหินจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้เนื่องจากประสาทตาถูกทำลาย แต่การรักษาอย่างถูกวิธีกับจักษุแพทย์ที่มีความชำนาญจะช่วยป้องกันไม่ให้ประสาทตาถูกทำลายและเสื่อมมากขึ้นไปกว่าเดิม ขณะเดียวกันในคนที่มีอาการต้องสงสัยว่ามีความเสี่ยงเป็นต้อหิน หรือมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา ควรรีบพบจักษุแพทย์โยเร็ว